CU-TEP speaking
ข้อสอบ CU-TEP ในส่วนของ การพูด (Speaking) จะมีข้อสอบรวมทั้งหมด 3 ข้อ และจะมีเวลาทำข้อสอบทั้งหมด โดยประมาณ 10-15 นาที โดยที่ผู้สอบทุกคนจะได้รับหูฟังพร้อมกับไมค์ไว้ใช้สำหรับพูดขณะสอบ นอกจากนี้ผู้สอบจะถูกกำหนดเวลาในการพูดในแต่ละข้อ ซึ่งข้อสอบนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
ข้อสอบ CU-TEP speaking ส่วนที่ 1
ข้อสอบเกี่ยวกับรูปภาพ โดยจะมีภาพปรากฏที่จอ Projector ทั้งหมด 6 รูปด้วยกัน โดยจะให้ผู้ที่เข้าสอบทุกคนแต่งเป็นเรื่องราวโดยเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมดเข้าด้วยกัน จะมีลักษณะคล้ายกันการแต่งนิทานนั่นเอง แต่ตัวผู้ทำสอบต้องมีทักษะในเรื่องของ คำเชื่อม (Connector) พอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เจอรูป Pen และ Notebook ( กรณีตัวอย่างมี 2 รูป ) จะสามารถแต่งประโยคได้ในลักษณะประมาณนี้คือ
“ When I go to school, I like to bring not only an expensive pen which I bought from a supermarket yesterday but also a modern notebook known as Mac book.”
จะเห็นได้ชัดเจนว่าจากประโยคนี้จะมีการเล่นคำเชื่อมหลัก ๆ ด้วยกันถึงสองตัวคือ when และ not only—–but (also ) นอกจากนี้ยังมีการเล่นการขยายประโยคไม่ว่าจะเป็น adjective ( expensive and modern ) และ relative pronoun ( which ) อีกด้วย ดังนั้นหากต้องการจะฝึกฝนในข้อสอบประเภทนี้ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความรู้เรื่องการเชื่อมโยงประโยค และเรื่องราวที่แต่งนั้นจะต้องเป็นเรื่องราวที่ไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย
สิ่งที่ควรระวังที่สุดสำหรับการทำข้อสอบข้อนี้คือ ต้องแน่ใจว่าได้ใช้คำศัพท์ครบทุกรูป มิเช่นนั้นจะโดนตัดคะแนนในเรื่องความไม่สมบูรณ์ของเนื้อหาอย่างแน่นอน (Content) และเวลาในการทำข้อสอบนี้จะมีเวลาให้เตรียมตัวเพียงแค่ 45 วินาทีเท่านั้นหลังจากที่รูปปรากฏ และจะต้องพูดประมาณ 2 นาทีให้เสร็จทันเวลา
ข้อสอบ CU-TEP speaking ส่วนที่ 2
ข้อสอบเกี่ยวกับแสดงความคิดเห็น ลักษณะของตัวข้อสอบจะเป็นเหตุการณ์ที่จะให้คำถามปลายเปิดแสดงความคิดเห็นของเรื่องที่กำลังทำอยู่ ซึ่งค่อนข้างจะไม่แน่นอนในเรื่องของตัวหัวข้อที่จะถูกถาม แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนคือคล้าย ๆ กับการเขียน Essay ที่อาจจะต้องมีเกริ่นนำ เนื้อเรื่อง และสรุป มีตัวอย่างที่จะให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ
Question : Many people think that I-phone is beneficial for them. Do you agree or disagree with this statement ?
Answer : “I completely agree with this view that this gadget can offer a myriad of benefits for users. Firstly, it can help communication in certain way; for example, when abroad students miss their family and want to talk to, they can call via Skype, one of the most popular application in this device. Secondly, I-phone can support education; to illustrate, when students want to know the meaning of unknown word, they can search from Thai-Fast dictionary in I-phone. So, as I mentioned earlier, I strongly believe that this mobile phone can give me more positive points”
จะเห็นได้ชัดว่าจากตัวอย่างคำตอบนี้จะมีการแบ่งเป็นสามช่วง คือ เกริ่นนำก่อนว่า thesis statement ของเรื่องคืออะไร (I completely agree with this view that…) และตามด้วยเนื้อหาที่มาสนับสนุนสองข้อคือ (Firstly, Secondly, ) และลงท้ายด้วยการทวนคำตอบอีกทีว่าสุดท้ายแล้ว เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อความนี้ (I strongly believe….)
สำหรับสิ่งที่ต้องระวังกับข้อสอบประเภทนี้คือ ต้องดูในแน่ใจว่าโจทย์ต้องการอะไรจากตัวผู้สอบ บางคนจะมีรูปแบบที่คิดไว้แล้วเพื่อนำมาใช้ตอบคำถาม แต่อาจจะไม่สามารถใช้ได้กับทุกกรณีก็ได้ หากเจอโจทย์ให้ Discuss ทั้งข้อดีและข้อเสีย ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาตอนสอบจริงได้ เวลาที่ให้ก็จะคล้ายกับข้อสอบข้อแรกคือ ให้เวลาเตรียมตัว 45 วินาที และพูดอีกประมาณ 2 นาที
ข้อสอบ cu-tep speaking ส่วนที่ 3
ข้อสอบเกี่ยวกับสรุปความ โดยที่ทางศูนย์สอบจะให้ผู้สอบดูวิดีโอความยาวประมาณ 5-8 นาทีเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด หลังจากนั้นจะให้เวลาเตรียมตัว 45 วินาทีเช่นเดิม เพื่อเตรียมตัวพูดสรุปใจความสำคัญที่ได้จากการดูครั้งนี้ ซึ่งเกณฑ์หลัก ๆ ที่จะต้องรู้คือ ห้ามแต่งเรื่องเกินกว่าที่ได้ยินเป็นอันขาด พยายามพูดแต่ใจความสำคัญไม่เน้นพูดเยอะเกินความจำเป็น อาจจะทำให้เสียคะแนนได้ มีเวลาพูดประมาณ 2 นาทีเช่นเดิม
สิ่งที่ควรระวังเป็นพิเศษคือ สมาธิ ในการสอบเพราะว่า การสอบนี้คนสอบจะนั่งติดกันทำให้มีโอกาสที่เสียงจะเกิดการรบกวนกันได้ด้วย ดังนั้นทางที่ดีในวันที่สอบ กรรมการจะแจกกระดาษไว้ทดเพื่อใช้ในการ Brainstorms ก่อนล่วงหน้าอยู่แล้ว ให้ผู้สอบพยายามเรียกไอเดียที่สำคัญออกมาไว้เลย เพื่อจะได้ใช้ได้ง่ายขึ้นขณะพูด เพื่อไม่ให้ลืมเรื่องราวใด ๆ ที่อยากจะพูด เพราะเนื่องจากความกดดันที่ค่อนข้างมีมาก อาจจะทำให้ผู้สอบลืมส่วนสำคัญไปก็เป็นได้ และควรฝึกฝนการพูดภาษาอังกฤษบ่อย ๆ ที่บ้าน เป็นเรื่องปกติที่จะมีการผิดหลักทางไวยากรณ์ (Grammar) กันบ้างอยู่แล้ว แต่หากเราทำจนคล่องจนเกิดความเคยชินจะสามารถหยิบคำมาใช้ได้อย่างอิสระอย่างแน่นอน
สำหรับหลักการในการคิดคะแนน CU-TEP Speaking นั้น ไม่มีออกมาชัดเจน แต่โดยทั่วไปแล้ว หากยึดตามหลักของการสอบที่มีชื่อเสียงเช่น TOEFL หรือ IELTS จะพบว่า ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่คนสอบให้ความสนใจจะมีคือ
– Content คือ เนื้อหาที่ผู้สอบได้แสดงออกไปในตอนที่พูด เรื่องราวนั้นได้เข้าประเด็นหรือไม่ หรือว่ามีการออกนอกเรื่องมากเกินไปหรือเปล่า และที่สำคัญตอบครบคำถามที่โจทย์ต้องการหรือไม่
– Organize คือ การเรียบเรียงความคิดการพูดของผู้สอบ ว่าจะให้เหตุการณ์อะไรมาก่อนมาหลัง หรือการที่ผู้สอบไม่พูดวนไปวนมา พูดเป็นขั้นเป็นตอนนั่นเอง
– Vocabulary คือ การเลือกใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมกับเรื่องที่กำลังพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Topic vocabulary อาทิเช่น ถ้าผู้สอบกำลังพูดเรื่องการศึกษา ก็ควรใช้คำในหมวดเช่น students, learners, advisors หรือ school เป็นต้น
– Pronunciation คือ การออกเสียงของคำที่กำลังพูด ไม่ผิดที่เราจะมีสำเนียง (Accent) ในแบบของเรา แต่การออกเสียงต่างหากที่เป็นตัวบอกความหมายของคำ อาทิเช่น การใช้เสียงสูงลงท้ายของประโยค อาจจะทำให้ผู้ฟังคิดว่าเป็นประโยคคำถามก็ได้หากไม่ระวังการใช้ดี ๆ