ธนาคารหน่วยกิตการศึกษา คืออะไร
ธนาคารหน่วยกิตการศึกษา คือ ระบบสำหรับผู้ที่ต้องการสะสมหน่วยกิตหรือผลการเรียนรู้ โดยจัดให้มีระเบียนหรือสมุดสะสมหน่วยกิต ให้สามารถนำผลการเรียน ผลการเรียนรู้ จากแหล่งต่างๆ มาสะสมเป็นหน่วยกิตหรือผลการเรียนรู้ ฝากไว้ในธนาคารหน่วยกิตของหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือฝากไว้ที่ธนาคารหน่วยกิตในสถาบันอุดมศึกษาได้ โดยให้ระบบดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมากกว่าการศึกษาในระบบตามหลักสูตรปกติ เช่น ไม่จำกัดระยะเวลาตายตัวในการสะสม หรือไม่กำหนดระยะเวลาการเรียน เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยในเมืองไทยหลายแห่งได้เริ่มนำระบบ credit bank ไปบรรจุไว้ในการเรียนการสอน โดยนักศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนต่อเนื่องครบ 4 ปี หากเรียนไปแล้วสักพักอยากออกไปทำงาน ไปสร้างธุรกิจแล้วค่อยกลับมาเรียน มหาวิทยาลัยก็จะเก็บหน่วยกิตไว้ให้ จะกลับมาเรียนเมื่อไรก็ได้ โดยผลการเรียนยังคงอยู่ ซึ่ง credit bank หรือธนาคารหน่วยกิตการศึกษาจะมีรูปแบบ ดังนี้
- ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มโอกาสในการศึกษาตลอดชีวิตให้แก่บุคคล ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิต
- สามารถสะสมได้ ทั้งผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ การเรียนรู้จากการศึกษานอกระบบ จากการศึกษาตามอัธยาศัย การเรียนรู้จากประสบการณ์และอาชีพ
- สามารถนำผลการเรียนและผลการเรียนรู้ มาสะสมในธนาคารหน่วยกิตได้ ตามหลักเกณฑ์ในการเทียบโอนผลการเรียนตามระดับคุณวุฒิ หรือการเข้าสู่การศึกษาในระบบได้
- สามารถสะสมผลการเรียนและผลการเรียนรู้ได้โดยยืดหยุ่น หรือมีการผ่อนคลายข้อจำกัดในเรื่องอายุของผู้เรียน คุณวุฒิ ระยะเวลาในการสะสมหน่วยกิต และระยะเวลาในการเรียน
- ประชาชนทั่วไป ผู้เรียน หรือผู้ที่ประสงค์จะสะสมหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียนรู้ สามารถนำผลการเรียนรู้ของตน มาขึ้นทะเบียนเปิดบัญชีสะสมหน่วยกิต (Credit Account) ฝากสะสมไว้ได้ ในแบบเปิดบัญชีหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียนรู้ คล้าย ๆ บัญชีเงินออมของธนาคาร (Saving Account)
- สามารถลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิตในสถาบันอุดมศึกษาได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการเทียบโอนของสถาบันอุดมศึกษา โดยผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนรู้ที่ได้รับจากการศึกษาอบรม ทั้งจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และจากประสบการณ์การเรียนรู้ มาสะสมเพื่อให้ผู้เรียนได้รับคุณวุฒิในระดับหรือในสาขาวิชาที่ได้สะสมผลการเรียนรู้ไว้ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเรียนในสิ่งที่มีความรู้แล้ว ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลา ทรัพยากร
หมายเหตุ : แต่ละมหาวิทยาลัย อาจมีการออกแบบหลักสูตร/โครงการที่แตกต่างกันออกไปได้ ดังนั้น รายละเอียดและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียนอาจจะเหมือนหรือต่างกันก้ได้ในแต่ละมหาวิทยาลัย
credit bank หรือธนาคารหน่วยกิตการศึกษา เหมาะสมกับใคร
เมื่อระบบธนาคารหน่วยกิตถูกพัฒนาเต็มรูปแบบ ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนได้จากการศึกษาในระบบ นอกระบบ หรือจากการศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้จากประสบการณ์และอาชีพของแต่ละคน มาเก็บสะสมไว้ในระบบทะเบียน หรือเก็บสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตของสถาบัน เพื่อรับประกาศนียบัตร วุฒิบัตร สัมฤทธิบัตร อนุปริญญาหรือปริญญาบัตร หรือตามหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาได้ โดยไม่จำกัดอายุผู้เรียน คุณวุฒิผู้เรียน ระยะเวลาในการสะสมหน่วยกิต และระยะเวลาในการเรียน
Credit Bank มหาวิทยาลัยในประเทศไทย
มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่จัดโครงการหรือออกแบบหลักสูตรโดยใช้แนวคิดของธนาคารหน่วยกิต หรือ Credit Bank นั้นมีอยู่หลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น
1. โครงการสัมฤทธิบัตร โครงการเรียนล่วงหน้ากับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)
เป็นโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สามารถเรียนเรียนปริญญาตรีล่วงหน้า แล้วโอนชุดวิชาที่สะสมเครดิตไว้เข้าหลักสูตรปริญญาตรีของมสธ.ได้ ซึ่งโครงการนี้ทุกคนสามารถเรียนได้ ไม่จำกัดเพศ อายุ และเพศ นอกจากนี้ยังไม่จำกัดสถานภาพอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ สามเณร ผู้พิการ หรือผู้ต้องขังก็สามารถเรียนได้เช่นกัน ส่วนน้อง ๆ ม.ปลายที่เริ่มทะยอยเรียนไว้ตั้งแต่ยังไม่จบ ก็สามารถโอนเครดิตที่ได้มาแล้วตอนเข้ามหาวิทยาลัยได้ เหมือนเป็นการเรียนปริญญาตรีควบคู่กับการเรียนมัธยมปลาย
2. Pre Degree มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เป็นหลักสูตรที่มุ่งสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นให้คนพัฒนาศักยภาพอย่างสม่ำเสมอ เป็นระบบที่เน้นเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไป หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความประสงค์จะให้บุคลากรในองค์กรได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รวมไปถึงผู้ที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้นแล้วและกำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น สามารถศึกษาและเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัยควบคู่กันไปได้ ทาให้มีประสบการณ์และการเตรียมตัวที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป และที่สำคัญหน่วยกิตสะสมที่สอบได้แล้วขณะที่กำลังเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็สามารถนำมาสมัครเข้าเป็นนักศึกษาตามระบบของนักศึกษปริญญาตรีทั่วไป และนำหน่วยกิตสะสมมาใช้เทียบโอนเพื่อศึกษาต่อเนื่องได้เลย ซึ่งโครงการนี้ก็มีวิชาในหลากหลายคณะให้เลือกเรียน ไม่ว่าจะเป็น คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ สื่อสารมวลชน และคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งสิ้น 67 สาขาวิชา เลยทีเดียว
3. CMU-SMILE มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งเป็นระบบการเรียนที่ไม่มุ่งเน้นใบปริญญา แต่สามารถสะสมใน Credit Bank ของมหาวิทยาลัย และเทียบโอนเพื่อปริญญาได้ในอนาคต โดย CMU-SMILE จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
- SMI : School of Multi/Inter-disciplinarity รูปแบบนี้จะเน้นส่งเสริมและบริหารจัดการหลักสูตรพหุวิทยาการ สหวิทยาการที่บูรณาการความรู้ ความเชี่ยวชาญศาสตร์จากหลายคณะ/วิทยาลัย ตลอดจนพัฒนาไปสู่หลักสูตร tailor-made ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจ
- LE : Lifelong Education เป็นระบบที่เน้นการศึกษาตลอดชีวิต โดยสามารถสะสมเป็นหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเทียบโอนเพื่อปริญญาในอนาคตได้ซึ่งรูปแบบการเรียนนี้จะแบ่งออกเป็น 2 แบบย่อย ๆ คือ
- เรียนวิชาในหลักสูตรของคณะต่าง ๆ ที่มีการเปิดสอนอยู่แล้ว ทั้งการเรียนแบบล่วงหน้า สำหรับนักเรียนมัธยม เรียนวิชา ป.ตรี ล่วงหน้า หรือนักศึกษา ป.ตรี เรียนวิชา ป.โท ล่วงหน้า และการเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิต
- เรียนแบบหน่วยการเรียน (Module) หรือหลักสูตรระยะสั้นตามความต้องการ ทั้งการเรียนแบบขอรับประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อ re-skill, up-skill ให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และการเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิต โดยหากจะสะสมเป็นหน่วยกิตจะต้องผ่านการประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับการศึกษาในระบบหลักสูตรปกติ
หมายเหตุ : ผู้เรียนที่เข้ามาเรียนในรูปแบบการศึกษาตลอดชีวิต (LE) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะสามารถสะสมหน่วยกิตของตนผ่านระบบ CMU-Credit Bank และสามารถเลือกรับการรับรองได้ 2 รูปแบบ ขึ้นกับความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งมีให้เลือก ดังนี้
- non-degree credits ที่เป็นใบประกาศนียบัตรรับรองสมรรถนะ หรือ
- degree credits เพื่อรับปริญญาบัตร
4. UTCC Credit Bank – มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เป็นระบบที่เปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าศึกษาเพื่อเก็บ Credit Bank ซึ่งสามารถเลือกเรียนได้ 2 แบบ คือ
- เก็บหน่วยกิตใน credit bank โดยวัดผลคะแนนเพื่อใช้เทียบโอน
- แบบ S/U (ผ่าน/ไม่ผ่าน) และรับใบประกาศนียบัตร
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ทำการเปิดสอนหลากหลายสาขาวิชาจากคณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะบัญชี คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย
5. CU NEURON จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นระบบสนับสนุนการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปและกิจกรรม CUVIP ในระบบออนไลน์ที่มีคุณภาพของเนื้อหาอย่างครบถ้วน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นิสิต/นักศึกษา บุคลากร ศิษย์เก่า นักเรียนระดับมัธยมศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบ เรียนรู้ได้จากทุกสถานที่และทุกเวลา อีกทั้งมีระบบธนาคารเครดิตรายบุคคลที่รวบรวมข้อมูลการเรียนรู้ไว้อย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิตของบุคคล ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยการพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตและการทำงานที่สอดคล้องกับวิถีปัจจุบันและในอนาคตของบุคคลได้ ซึ่งคอร์สเรียนดังกล่าวมีมากถึง 40 รายวิชา ให้เลือกเรียนเลยทีเดียว โดยหลักสูตรมีรูปแบบ ดังนี้
- ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนรู้และผลลัพธ์การเรียนรู้ ความสามารถ และ/หรือสมรรถนะ มาเทียบหน่วยกิต และสะสมในระบบคลังความรู้ดิจิตอลของ GenEd ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
- ผู้เรียนสามารถสะสมผลการเรียนและผลลัพธ์การเรียนรู้ ความสามารถ และ/หรือสมรรถนะ ในระบบคลังความรู้ดิจิตอลของ GenEd ได้ โดยไม่จำกัด อายุ คุณวุฒิของผู้เรียน ระยะเวลาในการสะสมหน่วยกิต และระยะเวลาในการเรียน
- ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิตได้ตลอดชีวิต โดยไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสมและระยะเวลาในการศึกษา
- เพื่อส่งเสริมให้บุคคลสามารถสะสมผลการเรียน และผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้รับจากการศึกษาในระบบคลังความรู้ดิจิตอลของ GenEd
6. Non-age Group – KMUTT มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เป็นระบบที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคคลภายนอกมีโอกาสศึกษาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ สามารถนำไปพัฒนางานและวิชาชีพ โดยให้เข้ารับการศึกษาเป็นรายวิชา กลุ่มวิชา หรือหลักสูตรฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น โดยมีรายละเอียดของหลักสูตร ดังนี้
- ผู้สนใจสมัครเข้าศึกษาโดยเลือกเรียนเป็นรายวิชา กลุ่มวิชา หรือหลักสูตรฝึกอบรม ผ่านเว็บไซต์ admission.kmutt.ac.th และจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อไป
- ผลการประเมินรายวิชา กลุ่มวิชา หรือหลักสูตรฝึกอบรม สามารถสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) ได้ 5 ปี
- เมื่อเรียนหรือฝึกอบรมครบตามแผนการเรียนแล้ว จะได้รับใบรับรองผลการศึกษา หรือวุฒิบัตรเท่านั้น
- ผู้เรียนที่ประสงค์จะโอนผลการเรียนแบบบุคคลภายนอกระดับบัณฑิตศึกษาเข้าสู่การศึกษาในระบบของมหาวิทยาลัยเพื่อรับปริญญาสามารถโอนผลการเรียนได้ภายใน 5 ปี นับจากวันที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้น
- หลักสูตรมีทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก
7. โครงการเพื่อการศึกษา โครงการการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ (ธนาคารหน่วยกิต) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
โดยโครงการนี้จะรับสมัครบุคคลทั่วไปแบบไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ผู้มีประสบการณ์ทุกช่วงวัย ผู้สูงอายุ ไม่จำกัดคุณวุฒิการศึกษา อีกทั้งสาขาวิชาที่เปิดสอนก็มีหลากหลาย ทั้งวิชาของคณะศิลปศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยแพทย์แผนไทย
8. Pre-Degree Program มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 (หรือเทียบเท่า) มาลงทะเบียนเรียนเนื้อหาวิชาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพล่วงหน้า โดยเมื่อเรียนครบตามกฎเกณฑ์แล้ว ก็สามารถเก็บหน่วยกิตของวิชาที่เรียนนั้นไว้ในคลังหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อทำการเทียบโอน โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเรียนวิชาที่เรียนล่วงหน้าไปแล้วนั้นอีก ในกรณีที่ผู้เรียนมาศึกษาต่อระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งผู้เรียนจะมีโอกาสสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเร็วขึ้น เพราะได้เรียนล่วงหน้าไปตั้งแต่มัธยมปลายแล้วนั่นเอง โดยการเรียนในโครงการนี้จะไม่มีข้อผูกมัดหรือข้อบังคับใดๆ ทั้งสิ้น ผู้เรียนในโครงการเรียนล่วงหน้าไม่จำเป็นต้องศึกษาต่อระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะ ก็สามารถลงทะเบียนเรียนในโครงการเรียนล่วงหน้านี้ได้ ซึ่งก็จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองทักษะต่อไป หรือหากสนใจศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพก็สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ โดยหน่วยกิตจะถูกเก็บไว้ในคลังหน่วยกิตเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่ผู้เรียนเรียนโมดูลนั้นๆ จบ
รูปแบบการเรียนของโครงการนี้ จะจัดทำเป็นลักษณะโมดูล (Module) โดยจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ แบบใดแบบหนึ่ง และ/หรือแบบผสมผสาน (ตามความเหมาะสมของสถานการณ์และเนื้อหาวิชานั้นๆ) รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองตามคำแนะนำของผู้สอน และมีโอกาสเรียนรู้กับวิทยากรชื่อดัง ซึ่งรายละเอียดและตารางเรียนจะแตกต่างกันไปตามแต่ละโมดูล ซึ่งโมดูลที่เปิดสอน คือ การออกแบบคอนเสิร์ต (Concert Design) โดยคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
หมายเหตุ : 1 โมดูลเทียบเท่ากับ 1 หน่วยกิต ซึ่งปกติแล้ว 1 รายวิชาจะประกอบไปด้วย 3 หน่วยกิต
9. KKBS LLL มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เป็นหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตแบบสะสมหน่วยกิต (Credit bank) เรียนปริญญาโทล่วงหน้า กับหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิชาเอกการจัดการ ผู้ประกอบการ พาณิชย์และนวัตกรรม สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ให้สามารถเรียนปริญญาโทล่วงหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระยะเวลาการศึกษาน้อยลง ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและผู้สนใจทั่วไปสามารถมาพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (New Entrepreneur) และการสร้างธุรกิจเริ่มต้น (Startup) พร้อมรับประกาศนียบัตรสามารถนำไปเทียบโอนปริญญาบัตรในระดับปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตวิชาเอกการจัดการผู้ประกอบการพาณิชย์และนวัตกรรมคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจะมี 2 หลักสูตรหลัก ๆ ได้แก่
- โครงการเรียนรู้ล่วงหน้าแบบสะสมหน่วยกิต ระดับ ป. ตรี KKBS PRE B (BACHELOR DEGREE)
- หลักสูตรเรียนปริญญาโทแบบสะสมหน่วยกิต KKBS PRE – MASTER DEGREE ภายใต้หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิชาเอกธุรกิจสุขภาพ
10. PYU Credit Bank & Non-Degree ธนาคารหน่วยกิต มหาวิทยาลัยพายัพ
เป็นรูปแบบการเรียนรู้ตามความสนใจเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) จัดการเรียนการสอนหรืออบรมที่ไม่เน้นปริญญา (Non Degree) สามารถเก็บสะสมในธนาคารหน่วยกิต (Credits Bank) ของมหาวิทยาลัยพายัพ อีกทั้งยังเทียบโอนความรู้ ประสบการณ์เพื่อขอรับใบปริญญาได้เมื่อเรียนครบตามหลักสูตร โดยมีให้เลือกเรียนมากถึง 13 หลักสูตร ได้แก่ พื้นฐานดนตรี พื้นฐานไวโอลิน พื้นฐานดับเบิลเบส พื้นฐานเปียโน พื้นฐานอิเล็กโทน พื้นฐานกีตาร์ พื้นฐานกีตาร์ไฟฟ้า พื้นฐานเบสไฟฟ้า พื้นฐานกลองชุด การประพันธ์เพลง/การเรียบเรียงบทเพลง เสน่ห์ปลายจวัก อาหารไทย/อาหารนานาชาติ และขายออนไลน์ ที่สำคัญคือ ทางหมาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้กับบุคคลทั่วไปสามารถสมัครเป็นผู้เรียนได้ โดยไม่จำกัดเพศ อายุ พื้นฐานการศึกษา อาชีพ ศาสนา หรือสัญชาติ
11. โครงการบริการการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ประเภทเก็บสะสมหน่วยกิตจากคอร์สอบรมระยะสั้น ที่สามารถโอนเทียบปริญญาตรีเมื่อศึกษาครบตามหลักสูตร (ปริญญาตรีวันเสาร์-วันอาทิตย์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เป็นโครงการที่เอื้อให้บุคคลคนทั่วไปสามารถที่จะ Upskill และ Reskill ความรู้ในเชิงบริหารธุรกิจและการประกอบกิจการที่ทันสมัยกับยุคปัจจุบัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นสำหรับผู้ที่มีภาระหรือขาดโอกาสในการเรียนรู้ศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจในระดับมหาวิทยาลัยในลักษณะและช่วงเวลาปกติ ซึ่งครอบคลุม กลุ่มผู้ที่ทำงานแล้ว นิสิตนักศึกษาที่เรียนอยู่ในสาขาอื่นๆแต่ต้องการพัฒนาเพิ่มความรู้ด้านบริหารธุรกิจเพื่อนำไปประยุกต์ร่วมกับศาสตร์ของตนเอง นักเรียนหรือผู้ที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลาย หรือผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการอัพเดทความรู้ให้เป็นปัจจุบันที่สามารถเรียนคอร์สที่สอนในระดับปริญญาตรี ได้ในวันเสาร์และวันอาทิตย์
โครงการนี้จะเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตร มีลักษณะการเรียการสอนแบบ BLOCK COURSE หรือเรียนวิชาเดียวกันต่อเนื่องจนจบวิชาโดยใช้เวลาในการเรียนแต่ละวิชา 5 สัปดาห์ในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ต่อเนื่อง โดยผู้เรียนสามารถเรียนได้ทั้งที่ห้องเรียน ณ มศว ประสานมิตร หรือ เรียนออนไลน์พร้อมกันหรือย้อนหลังผ่านสื่อดิจิตอลที่หลักสูตรจัดบริการไว้ ซึ่งการเรียนการสอนจะมีตลอดทั้งปีไม่มีหยุดระหว่างภาคเรียน จึงทำให้สามารถใช้เวลาน้อยกว่าการเรียนในลักษณะปกติของทางมหาวิทยาลัย
คุณสมบัติของผู้สมัคร Credit Bank หรือธนาคารหน่วยกิตการศึกษา
แต่ละมหาวิทยาลัย จะมีรายละเอียดการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเรียนที่แตกต่างกันออกไป แต่ยังคงเน้นการเปิดกว้างไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น
1. UTCC Credit Bank – มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- เป็นบุคคลทั่วไป (ไม่จำกัดระดับการศึกษา) และไม่มีสถานภาพเป็นนักศึกษาในหลักสูตรปกติของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- เป็นผู้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
- ต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติให้เข้าศึกษาแบบบุคคลภายนอกตามเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนด
2. CU NEURON จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษา หรือกำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษา กศน. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือสูงกว่า
- เป็นผู้มีคุณวุฒิต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาหรือไม่มีคุณวุฒิการศึกษา
- เป็นผู้ต้องการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ เจตคติ หรือสมรรถนะเดิมที่มีอยู่
- เป็นผู้ต้องการพัฒนาความรู้ ทักษะ เจตคติ หรือสมรรถนะใหม่ตามความต้องการ ความสนใจ และความพร้อมของตนเอง
3. Pre-Degree Program มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.4 – ม.6 หรือเทียบเท่า
4. KKBS PRE B (BACHELOR DEGREE) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- เป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 – 6 หรือเทียบเท่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- มีคะแนนเฉลี่ยสะสมรวม ไม่น้อยกว่า 2.5 ในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคการศึกษาปลาย นับจนถึงมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ในวันก่อนยื่นสมัคร
- เป็นผู้มีความประพฤติดี โดยมีเอกสารรับรองความประพฤติจากอาจารย์ประจำชั้นและได้รับการคัดเลือกจากโรงเรียนต้นสังกัดในการเข้าร่วมโครงการฯ
5. โครงการบริการการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ประเภทเก็บสะสมหน่วยกิตจากคอร์สอบรมระยะสั้น มศว
- แบบการเรียนเพื่อรับประกาศนียบัตรรายวิชา จะไม่กำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำผู้เรียน
- แบบการเรียนเพื่อรับวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี
- ผู้เรียนต้องมีวุฒิการศึกษาเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 สมบูรณ์ที่ ณ วันที่จะขึ้นทะเบียนจบการศึกษา
ค่าใช้จ่ายในการเรียน ธนาคารหน่วยกิตการศึกษา
แต่ละมหาวิทยาลัย จะมีรายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่ายแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น
1. UTCC Credit Bank – มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- ค่าธรรมเนียมการสมัคร 500 บาท
- ค่าลงทะเบียนแบบเหมาจ่าย ต่อรายวิชา (3 หน่วยกิต) มีอัตรา ดังนี้
- ระดับปริญญาตรี รายวิชาบรรยาย 7,000 บาท รายวิชาที่มีปฏิบัติการหรือค่าธรรมเนียมพิเศษ 8,000 บาท
- ระดับปริญญาโท รายวิชาบรรยาย 12,000 บาท รายวิชาที่มีปฏิบัติการหรือค่าธรรมเนียมพิเศษ 17,000 บาท
2. โครงการบริการการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ประเภทเก็บสะสมหน่วยกิตจากคอร์สอบรมระยะสั้น มศว
- ค่าธรรมเนียมจะเรียกเก็บเป็นรายวิชา วิชาละ 5,500 บาท
- รวมตลอดหลักสูตรโดยประมาณ 240,000 บาท
3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ค่าลงทะเบียนวิซาเรียน ไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของอัตราค่าลงทะเบียนวิชาเรียนในหลักสูตรนั้น
- ค่าประกันทรัพย์สินเสียหาย จำนวน 4,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมการศึกษาหลักสูตรแบบเข้มข้น (Intensive Course) การศึกษาหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) หรือการอบรม ให้เป็นไปตามประกาศของคณะหรือภาควิชาหรือสายวิชาซึ่งอาจจะต้องดูรายละเอียดในประกาศรับสมัครอีกครั้ง
- ค่าธรรมเนียมการศึกษาอื่น ๆ ตามประกาศของมหาวิทยาลัยฯ
4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- อัตราค่าหน่วยกิต 1,000 – 6,000 บาท ขึ้นอยู่กับระดับวุฒิการศึกษา รายวิชา และขึ้นอยู่กับว่าเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยหรือเป็นบุคคลทั่วไปด้วย ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://admission.kmutt.ac.th/apply/non-age-group
อย่างไรก็ตาม สำหรับของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ไม่ได้ยกตัวอย่าง ผู้เรียนสามารถติดต่อสอบถามเข้าไปยังมหาวิทยาลัยโดยตรง และการคิดค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่แล้วจะมี 2 แบบ คือการคิดรวมตลอดหลักสูตรแบบโดยประมาณ หรือการคิดราคาต่อหน่วยกิต
การเทียบโอน ธนาคารหน่วยกิตการศึกษา
หลักการเทียบโอนผลการเรียน แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
- การเทียบวิชาเรียนและโอนหน่วยกิตระหว่างการศึกษาในระบบ จะทำกาเทียบโอนผลการเรียน นำไปสะสมในระบบธนาคารหน่วยกิต จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการรับรองคุณวุฒิการศึกษาต่อไป
- การเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัยและประสบการณ์ส่วนบุคคลเข้าสู่การศึกษาในระบบ จะเป็นการเทียบโอนผลการเรียนรู้ นำไปสะสมในธนาคารหน่วยกิต จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการรับรองคุณวุฒิการศึกษาต่อไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงขั้นตอนในภาพรวมอย่างกว้าง ๆ ที่จะทำให้มองภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยอาจมีรายละเอียดขั้นตอนมากกว่าหรือแตกต่างไปจากนี้บ้าง ทางผู้เรียนหรือผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ อีกครั้งได้