เนื้อเยื่อของพืชดอก (Plant tissue) โครงสร้างของพืชดอก

Reading Time: 2 minutes

เนื้อเยื่อของพืชดอก (Plant tissue)

แบ่งตามความสามารถในการแบ่งเซลล์ได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. เนื้อเยื่อเจริญ (Meristematic tissue หรือ Meristem) คือ เนื้อเยื่อที่สามารถแบ่งเซลล์ได้ตลอดชีวิต ซึ่งแบ่งได้เป็น

1.1 เนื้อเยื่อเจริญที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตขั้นแรก (primary growth) ทำให้ต้นไม้ สูงขึ้น ๆ ซึ่งแบ่งได้เป็นการเจริญส่วนปลาย (apical meristem) พบที่รากหรือยอด กับอีกแบบคือ การเจริญเหนือข้อ (intercalary meristem) ที่จะพบเฉพาะในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวบางชนิด

1.2 เนื้อเยื่อเจริญที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตขั้นที่สอง (secondary growth) ทำให้ต้นไม้ ขยายขนาดด้านข้าง ๆ ซึ่งมีสองชนิด ได้แก่ cork cambium และ vascular cambium

2. เนื้อเยื่อถาวร (Permanent tissue) คือ เนื้อเยื่อที่ไม่สามารถแบ่งเซลล์ได้อีก เป็นองค์ประกอบหลักของพืช ได้แก่

2.1 เนื้อเยื่อผิว (epidermis) พบส่วนนอกสุดของพืช ได้แก่ เซลล์เอพิเดอร์มิส (epidermal cell), เซลล์คุม (guard cell), เซลล์ขนราก (root hair cell)

2.2 พาเรงไคมา (parenchyma) ทำหน้าที่เป็นเนื้อเยื่อพื้นฐานของพืช โดย parenchyma ที่มี chloroplast อยู่ จะเรียกว่า chlorenchyma

2.3 คอลเลนไคมา (collenchyma) มักพบในเนื้อเยื่อของพืชในส่วนที่ยังอ่อน เช่น ก้านใบ เส้นกลางใบ ลำต้น แต่จะไม่พบในราก

2.4 สเคลอเรงไคมา (sclerenchyma) ทำหน้าที่สร้างความแข็งแรง ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว ได้แก่ ไฟเบอร์ (fiber) และ สเคอรีด (sclereid)

2.5 เนื้อเยื่อลำเลียงน้ำ (xylem) เป็นเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำและแร่ธาตุ จากรากขึ้นไปยอด ประกอบด้วยเทรคีด (tracheid) และ เวสเซล (vessel)

2.6 เนื้อเยื่อลำเลียงอาหาร (phloem) ลำเลียงน้ำตาลจากที่สร้างไปยังที่อื่น ๆ ประกอบด้วย Sieve tube member และ companion cell

 

เนื้อเยื่อของพืชดอก สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระบบ คือ

1. เนื้อเยื่อผิว หรือ Dermal tissue อยู่ในส่วนของระบบการปกป้องอันตราย ได้แก่ เซลล์เอพิเดอร์มิส (epidermal cell), เซลล์คุม (guard cell) และเซลล์ขนราก (root hair cell)

2. เนื้อเยื่อพื้นฐาน หรือ Ground tissue อยู่ในส่วนของระบบการสร้างและสะสมอาหาร ได้แก่ collenchyma cells, parenchyma cells และ sclerenchyma cells

3. เนื้อเยื่อลำเลียง หรือ Vascular tissue อยู่ในส่วนของระบบการลำเลียงสาร ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชนิด ได้แก่

  • เนื้อเยื่อลำเลียงน้ำ (xylem) ประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว 2 ชนิด คือ vessel และ tracheid cells
  • เนื้อเยื่อล าเลียงอาหาร (phloem) ประกอบด้วยเซลล์ที่ยังมีชีวิต 2 ชนิด คือ sieve tube member และ companion cell

 

โครงสร้างของพืชดอก

1. ราก (Root) แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ หมวกราก, เซลล์ที่กำลังแบ่งตัว, เซลล์ที่กำลังขยายตัวตามยาว และที่เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เฉพาะอย่าง

หน้าที่ของราก

  • ดูดซึมน้ำและแร่ธาตุ
  • ลำเลียงน้ำ แร่ธาตุ อาหาร
  • ค้ำจุนพืชให้ทรงตัวอยู่ได้
  • ทำหน้าที่สะสมอาหารและหน้าที่พิเศษ อื่น ๆ เช่น ขยายพันธุ์

ทั้งนี้ สามารถแบ่งรากตามลักษณะการเกิดได้ 3 ชนิด ได้แก่

  • รากปฐมภูมิ (primary root) เป็นรากแรกสุดที่แทงออกจากเมล็ด
  • รากทุติยภูมิ (Secondary root) เป็นรากที่เจริญมาจากรากปฐมภูมิ
  • รากพิเศษ (Adventitious root) เป็นรากที่เจริญมาจากส่วนอื่น ๆ ของพืช เช่น เช่น รากหายใจ รากค้ำจุน พูพอน รากสะสมอาหาร รากปรสิต รากเกาะ

2. ลำต้น (Stem)

ลำต้นมีหน้าที่พยุงกิ่งก้าน แต่ลำต้นพืชบางชนิดจะเจริญเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่พิเศษต่างๆ เพื่อความเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิต โดยลำต้นนั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • เนื้อเยื่อเจริญ ซึ่งประกอบด้วย เนื้อเยื่อเจริญส่วนปลายใบเริ่มเกิด ใบอ่อน และลำต้นอ่อน
  • บริเวณเซลล์ยืดตัวตามยาว
  • บริเวณเซลล์มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ไปทำหน้าที่เฉพาะอย่าง

3. ใบ

  • โครงสร้างภายนอกของใบ แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ แผ่นใบ (blade), ก้านใบ (petiole), หูใบ (stipule), เส้นกลางใบ (midrib) และเส้นใบ (vein)
  • โครงสร้างภายในของใบ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Epidermis (lower and upper epidermis), Mesophyll (palisade and spongy mesophyll) และ Vascular bundle (xylem and phloem)

ใบมีหน้าที่สร้างอาหาร หายใจ คายน้ำ แลกเปลี่ยนแก๊ส แต่ในบางครั้งใบก็สามารถเปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นหนาม (เช่นกระบองเพชร) ซึ่งต่างจากหนามที่พัฒนามาจากลำต้น (เช่น โป๊ยเซียน), เปลี่ยนเป็นใบสะสมอาหาร (เช่นว่านหางจระเข้) หรือเปลี่ยนไปดักแมลง

พืชบางชนิดมีการปรับตัวด้านอื่นๆ เช่น พืชทนแล้ง ต้องสงวนน้ำเอาไว้มาก ๆ โดยมีใบ น้อย ปากใบน้อย และอยู่ต่ำกว่าชั้น epidermis ปากใบเปิดเวลากลางคืนและมีขนปกคลุม มีชั้น cuticle หนา มีรากหยั่งลึกหรือแผ่เป็นบริเวณกว้าง บางครั้งใบอาจลดรูปเป็นหนาม ซึ่งทั้งหมดนี้จะตรงข้ามกับในพืชน้ำ

 

โครงสร้างของดอกและประเภทของดอก

ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 4 ส่วน ได้แก่

  • ชั้นกลีบเลี้ยง (Calyx) ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง (Sepal) เป็นโครงสร้าง มีหน้าที่ห่อหุ้ม ปกป้องอันตรายให้ส่วนต่าง ๆ ของดอกที่อยู่ภายใน โดยมักเป็นสีเขียวเพราะมีคลอโรฟิลล์ ทำให้สังเคราะห์ด้วยแสงได้
  • ชั้นกลีบดอก (Corolla) มีกลีบดอก (Petal) เป็นโครงสร้าง จะเป็นส่วนดึงดูดให้แมลงเข้ามาผสมเกสรด้วยต่อมน้ำหวานหรือต่อมกลิ่น มักมีสีสดใสเพราะมีรงควัตถุต่าง ๆ เช่น แคโรทีนอยด์ แอนโทไซยานิน
  • ชั้นเกสรเพศผู้ (Stamen) ซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ อับเรณู (Anther) และก้านชูอับเรณู (Filament) ทำหน้าที่สร้าง microspore และพัฒนาไปเป็นเรณู (Pollen) ภายในอับเรณู เมื่อเรณู (pollen) ไปตกลงบนยอดเกสรเพศเมีย ก็จะมีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (sperm)
  • ชั้นเกสรเพศเมีย (Pistil) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ยอดเกสรเพศเมีย (stigma) ก้านเกสรเพศเมีย (style) และรังไข่ (ovary) ที่มีออวุล (ovule) อยู่ภายใน โดยรังไข่จะทำหน้าที่ยึดส่วนของเกสรเพศเมียให้ติดกับฐานรองดอก (Receptacle) ส่วนในออวุลมีการสร้าง megaspore จะพัฒนาไปเป็นถุงเอ็มบริโอ (Embryo sac) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (Egg)

 

การจำแนกประเภทของดอกไม้

1. จำแนกตามส่วนประกอบของโครงสร้าง ได้แก่

  • ดอกสมบูรณ์ ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 4 ชั้นครบถ้วน
  • ดอกไม่สมบูรณ์ ดอกชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือมากกว่า 1 ชั้น จะหายไป

2. จำแนกตามโครงสร้างชั้นเกสรเพศ

  • ดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน
  • ดอกไม่สมบูรณ์เพศ หนึ่งดอกจะมีแค่เกสรเพศใดเพศหนึ่ง มักแยกเป็นดอกเพศผู้ และดอกเพศเมีย

3. จำแนกตามจำนวนของดอกบนก้านดอก

  • ดอกเดี่ยว ตาดอก 1 ตา มี 1 ดอกบนก้านดอก
  • ดอกช่อ ตาดอก 1 ตา มี 1 ก้านช่อ แต่ 1 ก้านช่อมีหลายก้านดอก

4. จำแนกตามตำแหน่งของรังไข่

  • ดอกที่มีรังไข่อยู่เหนือฐานรองดอก
  • ดอกที่มีรังไข่เสมอกับฐานรองดอก
  • ดอกที่มีรังไข่อยู่ใต้ฐานรองดอก

 

ตัวอย่างข้อสอบเรื่อง เนื้อเยื่อและโครงสร้างพืชดอก

1. ปากใบมีหน้าที่ใด

ก. คายน้ำปล่อยออกซิเจน
ข. คายคาร์บอนไดออกไซด์รับออกซิเจน
ค. คายน้ำปล่อยออกซิเจนรับคาร์บอนไดออกไซด์
ง. คายน้ำ

2. เซลล์คุมและเอพิเดอร์มิสด้านล่างของใบนั้นเป็นเซลล์แถวเดียวกัน แตกต่าง กันที่

ก. เอพิเดอร์มิสมีนิวเคลียส เซลล์คุมไม่มีนิวเคลียส
ข. เอพิเดอร์มิสไม่มีนิวเคลียส เซลล์คุมมีนิวเคลียส
ค. เอพิเดอร์มิสมีคลอโรพลาสต์ เซลล์คุมไม่มีคลอโรพลาสต์
ง. เอพิเดอร์มิสไม่มีคลอโรพลาสต์ เซลล์คุมมีคลอโรพลาสต์

3. ส่วนของรากที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดต่อการลำเลียงน้ำคือ

ก. เอพิเดอร์มิส
ข. คอร์เทกซ์
ค. เอนโดเดอร์มิส
ง. เพริไซเคิล

4. ขนราก (Root hair) หมายถึง

ก. เซลล์
ข. เนื้อเยื่อ
ค. อวัยวะ
ง. ระบบ

5. ข้อใดที่พบได้ในพืชดอกแต่ไม่พบในเฟิร์น

ก. vascular tissue
ข. spore
ค. Endosperm
ง. Gametophyte

Related Posts