B-NET คืออะไร
B-NET หรือ Buddhism National Educational Test คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในรายวิชาภาษาบาลี ธรรม พุทธประวัติ และวิชาวินัย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้น พุทธศักราช 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 โดยมี สทศ หรือสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ
B-NET สำคัญอย่างไร
การสอบ B-NET นั้น อย่างที่เราได้ทราบกันแล้วว่าเป็นการทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียนในรายวิชาภาษาบาลี ธรรม พุทธประวัติ และวิชาวินัย ตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ดังนั้น การสอบจะมีผลต่อการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในรายวิชาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ยังสามารถประเมินผลในระดับชาติได้อีกด้วย นั่นหมายถึงว่า การปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในระดับโรงเรียน แต่ยังสามารถนำไปพัฒนาในวงกว้างได้อีกด้วย รวมไปถึงหากหลักสูตรในระดับปริญญาตรีหลักสูตรใด ต้องการรับผู้สมัครเรียนที่มีทักษะด้านนี้ก็สามารถนำไปกำหนดเป็นเกณฑ์การรับสมัครได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นการสอบในระดับชาติ เป็นข้อสอบกลางที่นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆจะได้สอบด้วยข้อสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
B-NET ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง
การสอบ B-NET มีการจัดสอบในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยแต่ละระดับมีรายวิชาที่ต้องสอบ ดังนี้
ระดับชั้น | วิชาที่สอบ | เวลาในการทำข้อสอบ |
มัธยมศึกษาตอนต้น | ภาษาบาลี (รหัสวิชา 383) | 120 นาที |
ธรรม พุทธประวัติ วินัย (รหัสวิชา 384) | 180 นาที | |
ภาษาบาลี (รหัสวิชา 393) | 120 นาที | |
มัธยมศึกษาตอนปลาย | ธรรม พุทธประวัติ วินัย (รหัสวิชา 394) | 180 นาที |
B-NET นั้น มีไว้ให้ใครสอบได้บ้าง
B-NET จะมีจัดสอบไว้สำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในรายวิชาภาษาบาลี ธรรม พุทธประวัติ และวิชาวินัย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้น พุทธศักราช 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
วิธีการสมัครสอบ B-NET สามารถทำได้อย่างไรบ้าง
สำหรับการสมัครสอบ B-NET นั้น โดยปกติแล้วโรงเรียนจะเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก โดยหลังจากที่เริ่มมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการสอบแล้ว สถานศึกษาหรือโรงเรียนต่างๆก็เตรียมรวบรวมรายชื่อนักเรียนส่งไปยัง สทศ หรือสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผ่านเว็บไซต์ https://www.niets.or.th/ จากนั้นทาง สทศ จะทำการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบและสนามสอบออกมาเป็นประกาศครั้งที่ 1 ซึ่งทางโรงเรียนยังสามารถแก้ไขรายชื่อผู้เข้าสอบได้อยู่ เมื่อผ่านระยะการแก้ไขข้อมูลนี้ไปแล้ว ทาง สทศ จะออกประกาศฉบับที่ 2 ออกมา ซึ่งเป็นประกาศสุดท้ายที่จะแจ้งข้อมูลทุกอย่างแบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ สนามสอบ และเลขที่นั่งสอบ น้อง ๆเพียงแค่ตรวจสอบรายชื่อและข้อมูลของตนเองให้ครบถ้วนในแต่ละครั้งที่ สทศ ออกประกาศออกมา หากเรียบร้อยก็รอวันสอบได้เลย