CISA คืออะไร ?
CISA หรือ Certified Investment and Securities Analyst Program เป็นหลักสูตรวิชาการสำหรับผู้ที่สนใจวิชาชีพทางการเงิน ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน (Thailand Securities Institute: TSI) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยเนื้อหาสำคัญของหลักสูตร CISA จะเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางการเงิน การบริหารการลงทุนในตลาดการเงิน ตลอดจนหลักปฏิบัติวิชาชีพและจรรยาบรรณของอาชีพทางการเงิน
นอกจากนี้ โครงสร้างเนื้อหาโดยรวมของ CISA นั้นยังสามารถเทียบเคียงได้กับคุณวุฒิ CFA ที่ได้รับการยอมรับในตลาดการเงินทั่วโลกอีกด้วย
ดังนั้น CISA จึงเปรียบเสมือนใบเบิกทางสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจวิชาชีพและการเติบโตในสายงานการเงินการลงทุน CISA แบ่งการทดสอบทั้งหมดออกเป็น 3 ระดับ ซึ่งในแต่ละระดับจะประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ ๆ 4 ด้านที่เหมือนกัน คือ
– ด้านจรรยาบรรณและมาตรฐานการปฏิบัติงาน
– ด้านเครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์การลงทุน
– ด้านการประเมินมูลค่าสินทรัพย์
– ด้านการบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาวิชาการและหัวข้อการทดสอบหลักสูตร CISA ในแต่ละระดับมีความครอบคลุมและความยากง่ายต่างกัน
โดยที่ ข้อสอบ CISA ระดับ 1 จะเน้นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินที่ใช้ในการวิเคราะห์การลงทุน ตลอดจนจรรยาบรรณ ระเบียบข้อบังคับ และหลักปฏิบัติในวิชาชีพทางการเงิน โดยมีตัวอย่างหัวข้อการเรียนรู้เบื้องต้น เช่น เศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การวิเคราะห์เชิงปริมาณ การวิเคราะห์งบการเงิน การเงินธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์ การลงทุนในทางเลือกอื่น และทฤษฎีตลาดทุน
ข้อสอบ CISA ระดับ 2 จะเป็นการต่อยอดเนื้อหาความรู้จาก CISA ระดับ 1 โดยข้อสอบจะเน้นการประเมินมูลค่าสินทรัพย์และการประยุกต์ใช้เครื่องทางการเงินในการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในตลาดการเงิน เช่น การวิเคราะห์การลงทุนในตราสารทุน โดยการวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการใช้แบบจำลองในการประเมินมูลค่า การวิเคราะห์การลงทุนในตราสารหนี้ โดยการประเมินมูลค่าและ Structure Securities
ข้อสอบ CISA ระดับ 3 จะเน้นที่การบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน เช่น นโยบายการลงทุน สำหรับนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน การจัดรรสินทรัพย์และการบริหารความเสี่ยง กลยุทธ์ในการบริหารกลุ่มสินทรัพย์ รวมถึงการประเมินผลการบริหารกลุ่มสินทรัพย์ และมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากล
คะแนน CISA เอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ?
นอกจากความรู้ความเข้าใจด้านการวิเคราะห์ทางการเงิน และการบริหารการลงทุนที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพในตลาดการเงินแล้ว ใบคุณวุฒิที่ได้จากหลักสูตร CISA ยังถือเป็นคุณวุฒิขั้นต่ำในการทำงานตำแหน่งสำคัญๆ ในแวดวงการเงินอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผู้วิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้ขายหลักทรัพย์ และผู้จัดการกองทุน
โดยผู้ที่สอบผ่าน CISA ในแต่ละระดับจะสามารถขึ้นทะเบียนและได้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (กลต.) ดังนั้น หลักสูตร CISA จึงความสำคัญมากๆ สำหรับนักการเงิน และผู้ที่มองหาความก้าวหน้าในวิชาชีพการเงิน
ตารางสอบ CISA ?
ตารางสอบ CISA แบ่งออกเป็นแต่ละระดับ ดังนี้
(1) การทดสอบหลักสูตร CISA ระดับ 1 จะจัดขึ้นทุกเดือน โดยส่วนใหญ่มักจะจัดสอบในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนสอบ โดยช่วงเวลารับสมัครจะเปิดก่อนหน้าวันสอบประมาณ 2 เดือน
(2) การทดสอบหลักสูตร CISA ระดับ 2 จะจัดขึ้น 4 ครั้งต่อปี ในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม โดยจะประกาศช่วงเวลารับสมัครก่อนหน้าวันสอบประมาณ 2 เดือน
(3) การทดสอบหลักสูตร CISA ระดับ 3 จะจัดขึ้นแค่ 1 ครั้งต่อปีในเดือน ธันวาคม เท่านั้น และจะเปิดรับสมัคร 2 เดือนก่อนหน้าวันสอบเช่นเดียวกัน
โดยตารางสอบและระยะเวลาลงทะเบียนสอบหลักสูตร CISA ทั้ง 3 ระดับของทั้งปีจะถูกประกาศในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สมัครสอบ CISA ?
ผู้สมัครสอบหลักสูตร CISA จะต้องสมัครเป็นสมาชิก SET Member ก่อน โดยสามารถสมัครได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่เว็ปไซต์ www.set.or.th จากนั้นจึงจะสามารถเลือกหลักสูตรที่ต้องการทดสอบและลงเบียนออนไลน์ตามระเบียบการสมัครสอบ CISA ที่เว็ปไซต์ www.set.or.th/set/professional/html.do
โดยผู้สมัครสอบต้องลงทะเบียนสอบและยื่นชำระค่าธรรมเนียมการสอบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันสอบ
โดยสามารถชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารต่างๆ หากผู้สมัครสอบชำระค่าธรรมเนียมล่าช้าเกิน 30 วันล่วงหน้าจะไม่สามารถเข้าสอบได้
ศูนย์สอบ CISA ?
ศูนย์สอบ CISA แบ่งออกเป็น 2 ที่ตามแต่ละระดับ
หลักสูตร CISA ระดับ 1 และระดับ 2 จะจัดสอบที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
และหลักสูตร CISA ระดับ 3 จะจัดสอบที่อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แนะนำหนังสือ เตรียมสอบ CISA ?
ทางสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน (Thailand Securities Institute: TSI) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำหนังสือเตรียมสอบ CISA ในแต่ละระดับ โดยแบ่งเป็นหัวข้อย่อยตามเนื้อหาหลักสูตรที่ออกสอบ นอกจากนี้ ยังมีแบบฝึกหัดเตรียมสอบ CISA เพื่อให้ผู้สมัครสอบสามารถใช้เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับลักษณะข้อสอบของหลักสูตรในแต่ละระดับ
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของหนังสือนั้นมีความละเอียดค่อนข้างมาก ทำให้ผู้เตรียมสอบต้องใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจนาน
ดังนั้น อีกหนึ่งทางเลือกที่หลายคนเลือกใช้ คือ ตำราสอบ CFA ของต่างประเทศอย่าง Kaplan Schweser ที่สรุปรวบรวมเนื้อหาสำคัญๆ ในแต่ละหัวข้อ โดยใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย
นอกจากนี้ หนังสือ Schweser ยังมีสรุปสูตรทางการเงินที่ใช้บ่อยๆ รวมทั้งรวบรวมแบบฝึกหัดและตัวอย่างข้อสอบเพื่อให้ผู้สมัครสอบได้ใช้ทบทวนความเข้าใจเนื้อหาในแต่ละบทเรียน
อย่างไรก็ตาม หนังสือ Schweser เป็นคู่มือเตรียมสอบ CFA ซึ่งมีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ขณะที่ข้อสอบ CISA นั้นเป็นภาษาไทย รวมทั้งหลักสูตรและแนวข้อสอบของ CFA และ CISA ที่อาจมีความแตกต่างกันบ้าง จึงแนะนำให้ผู้อ่านใช้หนังสือเตรียมสอบของ Schweser เป็นตัวเสริมความเข้าใจของเนื้อหาทางการเงินและเพื่อทบทวนความรู้ในแต่ละหัวข้อ
คอร์สเรียนรับรองผล CISA ?
หลายคนโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เรียนจบหลักสูตรทางการเงินมาโดยตรงก็คงกังวลกับการสอบหลักสูตร CISA แต่จริงๆ แล้วนั้น โลกการเงินไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดหากเราเสริมพื้นฐานความรู้ทางการเงินให้แข็งแกร่งแล้วค่อยๆ ต่อยอดความรู้ไปทีละขั้นตอน พร้อมฝึกซ้อมทำข้อสอบเพื่อเตรียมความพร้อม นอกจากนี้ หากมีผู้ช่วยที่เชี่ยวชาญอย่างสถาบันจุฬาติวเตอร์ก็จะยิ่งทำให้ความมั่นใจในการสอบ CISA เพิ่มขึ้นยิ่งไปอีก