E-sports

E-sports
Reading Time: 2 minutes

รู้จักกับ E-sports เพราะคนรุ่นใหม่ใช้เกมทำเงิน

ด้วยความเป็นยุคออนไลน์ที่การเล่นเกมไม่ใช่แค่เพียงความสนุกอีกต่อไป แต่ทุก ๆ คนที่มีความสามารถจริงจะนำเกมเหล่านี้ไปสร้างเงิน สร้างอาชีพ มีรายได้ให้กับตนเองจริง โดยสิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่า e-sports เชื่อว่าคนทั้งรุ่นใหม่ รุ่นเก่าเองยังอาจสงสัยว่าคำ ๆ นี้คืออะไร แล้วมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน ลองศึกษารายละเอียดพร้อมเปิดใจไปพร้อม ๆ กันได้เลย

 

E-sports คืออะไร

หากแปลกันตรงตัว e-sports คือ การแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic sports โดยมีการตั้งกฎ กติกาขึ้นมาให้เป็นระบบสากล ใครที่เข้าแข่งขันจะต้องปฏิบัติตามกฎดังกล่าวเหมือนกีฬาทั่ว ๆ ไป สามารถเข้าแข่งขันได้ทั้งประเภททีมและประเภทบุคคล (ขึ้นอยู่กับการจัดแข่งในทัวร์นาเมนต์นั้น ๆ) ซึ่งประเภทของเกมที่ใช้แข่งขันก็มีหลากหลาย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับคือ มือสมัครเล่น, กึ่งอาชีพ และแบบมืออาชีพ โดยในการแข่งขันแต่ละทัวร์นาเมนต์จะมีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะพร้อมถ่ายทอดสดผ่านโลกออนไลน์ไปยังผู้ที่สนใจรับชมทั่วโลกอีกด้วย

 

ข้อดี-ข้อเสียของ E-sports

ข้อดีของ e-sports ข้อเสียของ e-sports
1. ทำรายได้ให้กับคนเล่นได้จริง ยิ่งใครมีความสามารถ เล่นได้เก่ง พร้อมมีทักษะ เทคนิค ก็สามารถสร้างเงินจนร่ำรวยได้ไม่ยาก 1. ทำให้คนติดเกมโดยไม่รู้ตัว เพราะเข้าใจว่าอยากเป็นนักกีฬา e-sports ต้องเล่นเกมเยอะ ๆ เข้าไว้
2. สร้างชื่อให้ตนเองและประเทศชาติ เพราะทุกวันนี้การแข่งขัน e-sports ไม่ใช่แค่รายการทัวร์นาเมนต์เล็ก ๆ ที่ถูกสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคอย่างซีเกมส์ หรือเอเชี่ยนเกมส์ ในอนาคตแล้ว 2. ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จในการเป็นนักกีฬา e-sports มืออาชีพ และได้เงินรางวัลจากการแข่งขัน คุณจึงต้องเก่งมาก ๆ
3. สร้างรายได้ที่มากกว่าในอนาคต ด้วยชื่อเสียงที่มีกับความสามารถ แม้ไม่ได้เข้าแข่งขันก็ยังสามารถนำไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้ เช่น การแคสเกม เป็นต้น 3. เสียเวลาในการทำอย่าง เช่น เอาเวลาไปเรียนหนังสือ, หางานทำที่มั่นคง, อ่านหนังสือฝึกสมอง, เล่นกีฬาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ฯลฯ
4. มีสมาธิ เกิดความตั้งใจในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างแน่วแน่ เพราะการจะเป็นนักกีฬา e-sports ได้ไม่ใช่แค่เล่นเกมเก่งแต่ต้องเกิดจากความตั้งใจและเรียนรู้ทักษะ เทคนิคการแข่งขันที่ถูกต้องเสมอ 4. ขาดรายได้ในการใช้จ่ายต่าง ๆ เพราะอย่างที่บอกว่าไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จแล้วได้เงิน บางทีเล่นไปแต่ไม่ได้อะไรกลับมา รายได้ก็ไม่มีอีกต่างหาก
5. ได้ฝึกวินัยในตนเอง เพราะนี่ถือเป็นการแข่งขันกีฬาประเภทหนึ่ง ไม่ใช่การนั่งเล่นเกมทั้งวัน ต้องมีช่วงเวลาในการฝึกซ้อมตามระบบที่เหมาะสม สามารถเอาวินัยตรงนี้ไปใช้ในอนาคตต่อได้ 5. เสียสุขภาพ คนที่ไม่รู้วิธีฝึกฝนอย่างถูกต้องจะคิดว่ายิ่งเล่นเยอะชั่วโมง ประสบการณ์ก็มากขึ้น คราวนี้ทั้งเสียสายตา สุขภาพเพราะนั่งอยู่กับหน้าคอม
6. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เพราะการแข่งขัน e-sports หลายประเภทต้องใช้ระบบทีม รวมถึงนักกีฬาส่วนมากก็ต้องมีเข้าร่วมทีมเพื่อส่งแข่งขัน ดังนั้นจึงช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้นั่นเอง 6. ภาพลักษณ์ภายนอกถูกมองว่าเป็นคนติดเกม เพราะมันคือเรื่องจริงเวลาใครเห็นก็อยู่แต่หน้าจอเพื่อเล่นเกม
7. ในวงการจิตแพทย์ยกให้ e-sports เป็นหนึ่งในวิธีรักษาโรค โดยเฉพาะการบำบัดปัญหาเด็กติดเกมเนื่องจากพวกเขาจะได้เล่นอย่างถูกวิธี มีเวลาชัดเจนมากขึ้น 7. ขาดการปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลภายนอก เพราะคนที่เล่นเกมส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจโลกภายนอกมากนัก คุยกันแต่คนในเกม พอมาเจอคนอื่น ๆ ในสังคมจะทำตัวไม่ถูก
8. ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากขึ้น เพราะพ่อแม่บางคนไม่เข้าใจว่าทำไมลูก ๆ ถึงเล่นแต่เกม ทว่าพวกเขาสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ชื่อเสียง 8. กลายเป็นคนใจร้อน หัวรุนแรง เพราะในหลาย ๆ เกมผู้เล่นต้องมีอารมณ์ร่วมด้วยเสมอ นิสัยนี้อาจติดมาโดยไม่รู้ตัวเมื่อไปทำกับคนอื่นก็อาจมีปัญหาตามมาได้
9. เมื่อเข้าเป็นนักกีฬา e-sports มืออาชีพจริง ๆ จะได้สุขภาพที่ดีด้วย เพราะในคอร์สฝึกต้องมีการออกกำลังกายเหมือนนักกีฬาทั่ว ๆ ไปเขาทำกัน 9. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของค่าไฟฟ้า ที่หากเล่นในบ้านทั้งวันทั้งคืน คงไม่ต้องบอกว่าค่าไฟจะแพงมหาศาลขนาดไหน
10. มีส่วนช่วยในเรื่องการจดจำ เพราะสมองต้องพบเจอกับสิ่งที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ทักษะในการจดจำเพื่อคว้าชัยชนะให้ได้จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ 10. ศักยภาพด้านอื่น ๆ ไม่ได้ถูกพัฒนา เพราะในหัวมีแต่เรื่องของเกมเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้ประสิทธิภาพ ความสามารถของร่างกายด้านอื่นด้อยลงไป

 

เปรียบเทียบอุตสาหกรรม E-sports กับธุรกิจกีฬาอื่น ๆ

เมื่อ e-sports ไม่ใช่แค่เกมแต่มันลายเป็นเรื่องธุรกิจ ดังนั้นอุตสาหกรรมประเภทนี้จึงเกิดการเปรียบเทียบกับธุรกิจกีฬาประเภทอื่น ๆ ว่ามีด้านไหนบ้างที่ท้าทาย สร้างผลกำไร เกิดการขาดทุนขึ้น มาลองแยกแยะเป็นข้อ ๆ ได้เลย

งบประมาณในการลงทุนที่สูงพอ ๆ กับธุรกิจกีฬาบางประเภท
สำหรับการทำธุรกิจ e-sports ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้เงินลงทุนที่มหาศาลเช่นกันเพื่อปั้นนักกีฬาสักคน หรือสักทีมให้ประสบความสำเร็จ ไม่ต่างจากวงการกีฬาหลายอาชีพ โดยเฉพาะฟุตบอลที่เป็นกีฬายอดนิยมของคนไทย ซึ่งงบประมาณทั้งค่าตัวนักกีฬา, การฝึกซ้อม, สถานที่เก็บตัว ฯลฯ ทุกอย่างล้วนเป็นเงินทุนทั้งสิ้น และการได้รับผลประโยชน์ก็จะมาจากเงินรางวัลแข่งขัน, สปอนเซอร์ ดังนั้นคนที่คิดจะเข้ามาในธุรกิจนี้ต้องวางแผนให้ดี

ความสนใจของผู้คน
ยุคนี้คนเริ่มให้ความสนใจติดตามชม e-sports กันมากขึ้น ซึ่งเอาเข้าจริงน่าจะเยอะกว่ากีฬาหลาย ๆ ประเภทในบ้านเราด้วยซ้ำ ในส่วนของตัวนักกีฬาเองหากเล่นเก่ง มีหน้าตาดี ก็สามารถเป็นคนที่แฟน ๆ ในวงกว้างชื่นชอบได้เหมือนกัน ดังนั้นหากเทียบกันคนที่ทำธุรกิจแนว e-sports จะได้กลุ่มคนแม้เป็นเฉพาะทางแต่ก็มีจำนวนมากทีเดียว

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนต้องมี
อย่างที่บอกว่า e-sports ก็เหมือนกับธุรกิจกีฬาอื่น ๆ เมื่อมีนักกีฬาคุณก็ต้องเกิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยังไม่รวมถึงการสมัครเข้าแข่งขันที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ค่าเดินทาง, ค่าอุปกรณ์ การบริหารบุคลากร ฯลฯ เรียกว่าจัดตั้งในรูปแบบบริษัทชัดเจน มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ต้องรับผิดชอบกันพอสมควรทีเดียว

การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง
ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเป็นเรื่องปกติ แต่กับ e-sports ก็ยังคงถือว่ามีความเสี่ยงสูงพอตัวเช่นกัน ยกตัวอย่างผลประกอบการของบางทีม บางบริษัท เช่น อีสปอร์ต เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของทีม Alpha แม้รายได้เข้ามาถึง 23.14 ล้านบาท แต่ก็แจ้งขาดทุนมาที่ 18.42 ล้านบาท ในปี 2561 ซึ่งการลงทุนไม่ใช่แค่กับทีมอย่างเดียว แต่อาจยังต้องลงทุนเพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น เช่น เป็นสปอนเซอร์การแข่งขันในบางรายการ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การหาเงินจึงต้องคอยพึ่งสปอนเซอร์เหมือนกับธุรกิจกีฬาอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะว่าไปหากไม่นับเฉพาะธุรกิจกีฬาฟุตบอล แต่เป็นกีฬาอื่น ๆ เช่น บาสเกตบอล, วอลเล่ย์บอล, เทนนิส, แบดมินตัน ฯลฯ อาจยังไม่ได้มีศักยภาพที่แข็งแรงมากนัก ทั้งเรื่องสปอนเซอร์ การลงทุน คนที่เข้ามาชม ดังนั้นหากมองในช่วงเวลานี้ธุรกิจ e-sports จึงถือว่าน่าสนใจ และน่าลงทุนมากทีเดียว

 

E-sports แตกต่างกับกีฬาจริง ๆ อย่างไร

ด้วยชื่อและรูปแบบของการแข่งขันถือเป็นเรื่องปกติที่จะบอกว่า e-sports มีความแตกต่างกับกีฬาจริง ๆ อยู่พอสมควร และนี่คือข้อแตกต่างที่มองเห็นได้ชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เรื่องของอารมณ์ร่วมหลังจบเกมหรือการมีส่วนร่วมระหว่างแข่งขัน ปกติถ้าเป็นกีฬาทั่ว ๆ ไปเมื่อเกมนั้นจบลงก็แทบไม่ได้ทำอะไรต่อนอกจากคุยกันหลังเกม หรือถ้าเป็นกีฬาเมืองนอกที่แข่งจบดึก ๆ ก็ปิดไฟนอนทันที แต่สำหรับ e-sports ระหว่างแข่งคุณก็มีส่วนร่วมกับเกมโดยการพิมพ์แชทได้ หรือถ้าหากจบเกมแล้วอารมณ์ยังค้างก็สามารถเข้าไปเล่นเกมที่พึ่งจบไปได้ ใช้ทักษะที่ดูมาปรับให้ตนเองเก่งขึ้น ตรงนี้ต้องแยกประเด็นให้ออกเพราะการรับชม e-sports กับการรับชมกีฬาทั่ว ๆ ไปไม่เหมือนกัน บางคนชอบดูกีฬานั้น ๆ แต่ไม่ได้มีโอกาสเล่น เล่นไม่ได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ขอบดูฟุตบอลแต่ร่างกายไม่แข็งแรง, ไม่มีสนามฟุตบอลให้เล่น ผิดกับ e-sports เมื่อคุณชอบหลังดูจบก็สามารถเล่นตามได้ทันที อารมณ์ร่วมที่ได้รับจึงสูงกว่า

ถ้าหากมองในส่วนของการแข่งขันประมาณว่ากีฬาจริงต้องใช้กำลังเยอะ อันนี้ไม่จริงเสมอไป และ e-sports กับกีฬาปกติก็ไม่ได้เปรียบเทียบกันตรงนั้น เพราะนักกีฬา e-sports ก็ต้องมีการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ อยู่ตลอด ไม่ใช่วัน ๆ ตื่นเช้ามาเพื่อเล่นเกมอย่างเดียว มีเวลาซ้อมชัดเจน มีเวลาออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง หรือระหว่างแข่งขันกีฬาจริง ๆ ที่ไม่ได้ออกแรงมากก็มีเยอะ เช่น สนุ๊กเกอร์, หมากล้อม เป็นต้น ตรงนี้จึงเอามาแบ่งแยกไม่ได้

ข้อแตกต่างระหว่างนักกีฬา E-sports กับเด็กติดเกม

แม้หลายคนจะมองว่านักกีฬา e-sports กับเด็กติดเกม มีเพียงเส้นบาง ๆ ขั้นเอาไว้แต่หากเจาะลึกเป็นประเด็นจะเห็นว่าทั้ง 2 ประเภทนี้ต่างกันมาก

เป้าหมายที่แตกต่าง
สำหรับนักกีฬา e-sports จะมีเป้าหมายในชีวิตชัดเจนว่า ต้องการแข่งขัน ฝึกทักษะเพื่ออะไร เช่น ต้องเข้าไปแข่งขันในรายการระดับโลก, ต้องเป็นอันดับ 1 ในประเภทเกมนั้น ๆ จึงทำให้ความมุ่งมั่น สมาธิ การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ดูแลมีมากกว่า ต่างกับเด็กติดเกมที่ไม่มีเป้าหมายในเชิงบวก คิดแค่วันนี้ต้องชนะคนในเกมให้ได้ก็พอแล้ว

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ
การลงทุนของคน 2 ประเภทนี้ไม่เหมือนกัน นักกีฬา e-sports จะลงทุนเล่นเกมเพื่อหวังเงินรางวัลในอนาคต พวกเขามีเป้าหมายชัดเจน แต่สำหรับเด็กติดเกมจะไม่สนใจเรื่องผลกำไรที่เกิดขึ้น สนใจแค่วันนี้จะมีเงินมาเล่นเกมหรือไม่เท่านั้น

อารมณ์และความเป็นนักกีฬา
การเป็นนักกีฬาที่ดีไม่ว่าแบบไหนต้อง รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รวมถึงต้องควบคุมอารมณ์ตนเองให้ดี มีน้ำใจนักกีฬากับผู้อื่นเสมอ ไม่คิดอาฆาต ต้องการเอาชนะหลังจบเกมด้วยวิธีสกปรก รวมถึงการเข้าใจกันและกันระหว่างทีมก็เป็นสิ่งที่นักกีฬาทุกประเภทต้องเรียนรู้ ตรงนี้เองที่นักกีฬา e-sports จะได้รับการฝึกฝนด้านสภาพจิตใจต่างกับเด็กติดเกมที่บ่อยครั้งมักเห็นว่าเกมจบคนไม่จบ บางทีทะเลาะกันเองในทีมด้วยซ้ำ

แยกแยะเวลาเล่นเกม
การแยกแยะเวลาเล่นเกมถือเป็นอีกคุณสมบัติที่นักกีฬา e-sports ทำได้ ไม่ใช่พวกเขาเล่นทั้งวันโดยไม่สนใจอะไร แต่จะมีระเบียบการฝึกซ้อม เล่นวันละกี่ชั่วโมง, กิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องทำ, ทานอาหารให้เหมาะสม ฯลฯ ต่างกับเด็กติดเกมที่ไม่สนใจเวลา ก็อยากเล่นอย่างเดียว

 

คุณสมบัตินักกีฬา E-sports

การเป็นนักกีฬา e-sports ไม่ใช่แค่รักในการเล่นเกมเพียงอย่างเดียวแต่ต้องรู้จักคุณสมบัติที่เหมาะสมของนักกีฬาไม่ต่างกับกีฬาชนิดอื่น ๆ เลย

ระเบียบวินัยเป็นสิ่งสำคัญมาก
อย่างที่บอกการเป็นนักกีฬา e-sports ไม่ใช่แค่เล่นเกมไปวัน ๆ แต่ยังต้องมีระเบียบวินัยที่ดีด้วย เพราะเมื่อตัดสินใจเข้ามาตรงนี้ต้องรู้ว่ามีการฝึกซ้อม เข้านอน ทานอาหาร ออกกำลังกาย เป็นเวลาชัดเจน ไม่ได้นั่งเล่นเกมทั้งวันเหมือนที่หลายคนเข้าใจ

มีความคิดตามแบบฉบับนักกีฬา
การเป็นนักกีฬาต้องรู้ว่าจังหวะไหนควรสู้ จังหวะไหนควรถอย มีชั้นเชิงในการเล่น เพราะทุกอย่างแลกมาด้วยเม็ดเงินและต้นทุนด้านอื่น ๆ มากมาย อย่าคิดว่าเล่นแล้วต้องสู้อย่างเดียว การแข่งขันแพ้แล้วไม่มีเริ่มใหม่แต่ตกรอบล้วน ๆ จึงต้องคิด วางแผนออกมาให้ดี

เตรียมพร้อมตนเองตลอดเวลา
นักกีฬาทุกประเภทต้องเตรียมพร้อมตนเองให้ดี คนเล่น e-sports ก็เช่นกัน ต้องเตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสม เช่น ก่อนวันแข่งต้องพักผ่อนให้เพียงพอ, รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า, ฝึกฝนทักษะอยู่ตลอด เป็นต้น รับรองแข่งเมื่อไหร่โอกาสชนะสูง

 

เงินเดือนของนักแข่ง e-sports

หากว่ากันถึงเรื่องเงินเดือนสำหรับนักกีฬา e-sports ถ้าเป็นคนเก่ง ๆ หน่อยก็มีหลักแสนขึ้นไป แต่ถ้าหากเป็นนักกีฬาที่ได้เข้าสังกัดในทีมปกติก็อาจรับอยู่ราว ๆ หลัก 30,000 บาท ขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถ ภูมิภาค ลีกที่แข่งขัน และเงินทุนทของทีมนั้น ๆ มีด้วย แต่บางคนถ้าเก่งมาก ๆ อาจได้ระดับ หลาย 1,000,000 ล้านบาท

 

หลักสูตร e-sports ในระดับมหาวิทยาลัย

ด้วยความนิยมของ e-sports จึงทำให้ในเวลานี้มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่งเปิดหลักสูตรสอนกันแบบชัดเจน จบออกมาหางานทำได้จริง โดยมหาวิทยาลัยชื่อดังของบ้านเราที่มีเปิดการเรียนการสอน e-sports เช่น

  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจเกมและ E-Sport
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ สาขาวิชาการจัดการ E-Sport
  • มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม หลักสูตรเกมและอินเทอร์แอคทีฟ
  • มหาวิทยาลัยศรีปทุม คณะศิลปกรรมศาสตร์ หลักสูตรการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาการพัฒนาสื่อประสมและเกม

สำหรับมหาวิทยาลัยต่างประเทศก็มีบางแห่งที่เปิดให้เรียนในหลักสูตร e-sports ด้วย ถือว่าน่าสนใจมาก ๆ อาทิ

  • Staffordshire University
  • Shenandoah University
  • University of Wiscousin – Stout

 

อาชีพที่เมือจบคณะ e-sports

ต้องบอกว่าการเลือกเรียน e-sports ไม่ใช่การเล่นเกม แต่มันคือการเรียนรู้ที่ล้ำลึกกว่านั้นมาก ๆ ทั้งทฤษฎี หลักการ พื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การฝึกนักกีฬาด้าน e-sports กฎหมาย จริยธรรมธุรกิจ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสายที่เลือกเรียน ดังนั้นเมื่อเรียนจบคณะ e-sports จึงมีอาชีพได้หลากหลายมาก ๆ เช่น

  • เป็นนักกีฬา โค้ช ผู้จัดการทีม กรรมการ ผู้จัดการแข่งขัน e-sports
  • ผู้พัฒนาเกม ออกแบบเกม
  • นักแคสเตอร์เกม พากย์เกม ลงเสียง
  • ทำธุรกิจเกี่ยวกับ e-sports หรือเทคโนโลยีด้านเกมที่เกี่ยวข้อง
  • สร้างคอนเทนต์ในด้านเกม เทคโนโลยี และอื่น ๆ
Related Posts