IJSO คืออะไร
International Junior Science Olympiad หรือเรียกสั้นๆว่า IJSO คือ การสอบแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี (ในวันที่ 31 ธันวาคมของปีการแข่งขัน)
International Junior Science Olympiad หรือ IJSO มีวัตถุประสงค์ในการจัดการแข่งขันขึ้นเพื่อส่งเสริมความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ในกลุ่มนักเรียน โดยให้นักเรียนได้รู้จักกับการแก้ปัญหาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และนอกจากนี้ยังทำให้ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่แตกต่างและทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนจากทั่วโลก ซึ่งจะทำให้มีศักยภาพในการส่งเสริมสันติภาพและความเข้าใจในระดับโลกต่อไป
การสอบแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ( IJSO ) มีทั้งการสอบข้อเขียนในเชิงทฤษฎีและการสอบภาคปฏิบัติ ซึ่งการทดสอบใน IJSO จะถูกออกแบบมาให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้เข้าใจถึงแนวคิด รวมไปถึงทดสอบความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย
คุณสมบัติของผู้สมัครแข่งขันสอบ IJSO
1. กำลังศึกษาในชั้น ม.1- ม.3 ณ วันที่สมัคร มีคะแนนเฉลี่ยในรายวิชาพื้นฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ไม่ต่ำกว่า 3.50 หรือถ้าต่ำกว่า 3.50 จะต้องมีผลงานทางวิทยาศาสตร์ดีเด่น (ต้องมีใบรับรองจากสถานศึกษา กรณีนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติให้ใช้เอกสารรับรองจากโรงเรียนที่ตนเองศึกษาอยู่
2. อายุไม่เกิน 15 ปี ณ วันที่ 31 ธันวาคม ในปีการศึกษาที่สมัครสอบเท่านั้น
3. มีสัญชาติไทย
4. ผู้ปกครองยินยอมให้เข้าค่ายอบรม (ถ้าได้รับคัดเลือกจะต้องมีเวลาอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของแต่ละวิซา)
5. โรงเรียนรับรองโดยผู้อำนวยการโรงเรียน (หรือรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หรือหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ได้รับมอบหมาย)
6. สำหรับนักเรียนโฮมสคูล ต้องรับรองโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
7. สำหรับนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน และโรงเรียนแสงทองวิทยา การสอบคัดเลือกรอบ 1 และรอบ 2 ให้อยู่ในการดำเนินงานของโรงเรียน เพื่อคัดผู้แทนนักเรียน จำนวนโรงเรียนละ 6 คน เข้าร่วมการอบรมในค่ายของมูลนิธิ สอวน.
8. จะต้องไม่เคยเป็นผู้แทน IJSO
ผลคะแนนของ IJSO เอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
ผลคะแนนสอบจากการสอบแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IJSO) จะถูกนำมาคิดคำนวณตามระบบ แล้วรายงานผลการแข่งขันออกมาเป็นเหรียญรางวัล ซึ่งประกอบไปด้วย รางวัลเหรียญทอง (Gold) รางวัลเหรียญเงิน (Silver) และรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze) แน่นอนว่ารางวัลเหล่านี้คือจุดสูงสุดที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต่างตั้งเป้าหมายไว้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีเพียงรางวัลหล่านี้ที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับ แต่ยังมีโอกาสอีกมากมายที่จะเข้ามาหลังจากที่เราเป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าแข่งขันครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโควตาการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ทุนการศึกษาอีกมากมายที่พร้อมจะสนับสนุนในการศึกษาต่ออย่างเต็มที่
ประโยชน์ของการสอบ IJSO
1. มีสิทธิ์เข้าสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำโดยไม่ต้องสอบ TCAS : น้องๆ อาจจะมีสิทธิ์ได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยก่อนคนอื่นๆ ในรอบโควต้า ในคณะที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่ติดค่าย พร้อมทุนการศึกษา เช่น คณะวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เภสัช เป็นต้น
2. มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัย ชั้นนำของโลก : น้องๆ ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศ ก็มีโอกาสจะได้รับทุนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง จะเป็นทุนการศึกษาจนถึงปริญญาเอก นอกจากนี้ สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น Stanford, MIT และ Harvard หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย
3. ได้เพิ่มความรู้ ความสามารถด้านวิชาการขั้นสูง : หลังจากสอบผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ค่าย IJSO/สอวน. แล้วน้องๆ จะได้เรียนรู้เนื้อหาที่ไม่มีสอนในโรงเรียน และได้เรียนเนื้อหาระดับมหาวิทยาลัยบางส่วนนอกจากนี้มีโอกาสได้ลงมือทำแล็ปจริง ๆ ด้วยตัวเอง
4. ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ น้องจะได้เจอกับเพื่อนๆ ทีมีความสามารถจากต่าง ร.ร. และเมื่อได้เป็นผู้แทนประเทศ ก็จะได้ไปเข้าค่ายยังต่างประเทศ เจอเพื่อนจากหลายประเทศอีกด้วย
5. ได้ค้นหาตัวตน เมื่อน้องๆเข้าค่าย จะได้มาเรียนรู้การทำ Lab จริง ได้เรียนเนื้อหาที่ยากขึ้น น้องจะพบว่าชอบวิชานั้นจริงหรือไม่
สมัครสอบ IJSO
น้องๆที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ( IJSO ) สามารถติดต่อขอรับใบสมัครและทำการสมัครได้ทั้งจากโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในส่วนภูมิภาค ศูนย์ สอวน. ม.ต้น (โรงเรียนสตรีวิทยา, โรงเรียนสารวิทยา, โรงเรียนศึกษานารี)
สมัครสอบ IJSO ได้ที่เว็บไซต์ของ สอวน. https://www.posn.or.th/topics/inter-olympiad กรอกข้อมูลลงในใบสมัครให้เรียบร้อยพร้อมเอกสารอื่นๆ เช่น รูปถ่าย ค่าสมัคร สำเนาบัตรประชาชน ใบรับรองผลการเรียน ส่งให้กับหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น
ตารางสอบ IJSO
การสอบแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ( IJSO ) ในแต่ละปีนั้น จะถูกจัดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ซึ่งมีจัดในช่วงนี้เป็นประจำทุกปี โดยจะมีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันราวๆ 50 ประเทศ
ปฎิทินตารางสอบ IJSO
พ.ศ.- ธ.ค. รับสมัครสอบคัดเลือก
ม.ค. สอบคัดเลือกรอบ 1
มี.ค. สอบคัดเลือกรอบ 2 (เฉพาะนักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกรอบ 1)
เม.ย. คัดเลือกผู้แทนประเทศ
สนามสอบ IJSO
ในแต่ละปีการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ( IJSO ) จะถูกจัดขึ้นในประเทศต่างๆ สลับหมุนเวียนไป ทั้งนี้ เราสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ได้ว่า การแข่งขันนี้ถูกจัดขึ้นที่ไหนบ้าง โดยสามารถดูได้ทั้งปีที่ผ่านๆมาและการจัดการแข่งขันในอนาคต ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวคือ http://www.ijsoweb.org/
รอบสอบ IJSO
สอบคัดเลือก IJSO รอบที่ 1
สอบวิชาคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา (วิชาละ 1 ชั่วโมง 30 นาที) โดยจะคัดเลือกผู้สมัครสอบจากทั่วประเทศเหลือประมาณ 300 คน รวมโควต้าเขตพื้นที่, โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จาก สสวท. 60 คน, ผู้แทนประเทศไทยจากการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษาจาก สพฐ 18 คน (ไม่รวมโควต้า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 6 คน, โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน 6 คน และโรงเรียนแสงทองวิทยา 6 คน)
สอบคัดเลือก IJSO รอบที่ 2
สอบวิชาฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา (สอบวิชาละ 1 ชั่วโมง 30 นาที) เพื่อคัดเลือกนักเรียนประมาณ 30 คน เข้าอบรม (ไม่รวมโควต้า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 6 คน, โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน 6 คน และโรงเรียนแสงทองวิทยา 6 คน)
สอบคัดเลือก IJSO ผู้แทนประเทศไทย
น้อง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกรอบที่ 2 จะต้องเข้าอบรมอย่างน้อย 80 % ของเวลาการอบรมแต่ละวิชา จึงจะมีสิทธิ์สอบคัดเลือก โดยจะมีการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยจำนวน 6 คน และสำรอง 4 คน
รูปแบบการสอบแข่งขัน IJSO
Multiple Choice Test: ข้อสอบแบบมีอัตนัย 4-5 ตัวเลือก ทดสอบความรู้ด้านเนื้อหาและการประยุกต์ใช้
Theoretical Test : เป็นข้อสอบแบบเติมคำหรือแบบอัตนัยเขียนอธิบาย ไม่มีตัวเลือก ทดสอบความรู้และความเข้าใจในเชิงทฤษฎี
Practical Test : เป็นข้อสอบการแบบ แล็ปกริ๊ง เน้นวัดความสามารถในการทดลองและประยุกต์ใช้ทฤษฎีต่างๆ เพื่อหาคำตอบจากการทำลองจริง
แนะนำหนังสือสำหรับเตรียมสอบ IJSO
สำหรับการเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (IJSO) แน่นอนว่าอาจจะต้องมาจากหลายๆส่วน ทั้ง การเข้าค่าย การเข้ารับการอบรวมต่างๆ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ การอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มพูนความรู้และเป็นการพัฒนาตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ โดยหนังสือที่น่าสนใจ เช่น University Physics with Modern Physics (14th Edition): Hugh D. Young, Roger A. Freedman, Chemistry: Raymond Chang, Kenneth Goldsby, IJSO – Internaiotnal Junior Science Olympiad Solved Papers เป็นต้น