หลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย แต่คุณทราบหรือไม่ว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร. แห่งนี้เป็นสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง ที่เปิดสอนสำหรับทั้ง พระภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ อฆราวาส ซึ่งประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถสมัครเข้าศึกษาและสามารถรับปริญญาได้เช่นเดียวกันค่ะ
ทั้งนี้ แม้จะได้ก่อตั้งมาเนิ่นนานนับแต่ปีพ.ศ. 2430 ทว่านับแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบันชื่อเสียงเรื่องการเรียนการสอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของ มจร. มีชื่อเสียงโด่งดังติดระดับโลก ทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทั้งร่วมศึกษาและเป็นวิทยากรจำนวนมาก จนทางมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการขยับขยาย จัดตั้งวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และเปิดการเรียนการสอน หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อรองรับบุคคลที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์จากทุกภูมิภาคทั่วโลก ให้สามารถเข้าถึงเนื้อหาวิชา การศึกษาโดยไม่จำกัดเฉพาะในพื้นที่ของภาษาไทยเท่านั้น
ประวัติของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงถวายแด่คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย โดยเริ่มต้นจัดการเรียนการสอนด้านพุทธศาสตร์เป็นสาขาแรก ต่อมาได้ขยายการเรียนการสอนไปยังสาขาวิชาอื่น ๆ โดยมจร. ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่โดดเด่นเรื่องการส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งยังถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านพุทธศาสตร์ที่สำคัญของคณะสงฆ์ไทย มีการจัดตั้งวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ศูนย์วิทยบริการและห้องเรียน กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยกว่า 10 วิทยาเขต และมีสถาบันสมทบในต่างประเทศอีกหลายแห่ง อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ใต้หวัน สิงคโปร์ ฮังการี เป็นต้น โดยในปัจจุบัน การจัดการศึกษาและบริการวิชาการพระพุทธศาสนา มีอยู่ ดังนี้
- ระดับบัณฑิตศึกษา เปิดสอนระดับปริญญาเอก 11 สาขาวิชา และระดับปริญญาโท 22 สาขาวิชา
- ระดับปริญญาตรี เปิดสอน 4 คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์
- ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต เปิดสอน 2 สาขาวิชา คือ พระไตรปิฎกศึกษา วิชาชีพครู
- ระดับมัธยมศึกษา มี 2 แห่ง คือ โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษาและโรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา
- การบริการวิชาการแก่สังคม ได้แก่ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สถาบันวิปัสสนาธุระ กลุ่มงานธรรมวิจัย กลุ่มงานมหาจุฬาอาศรม จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์พัฒนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแคมป์สน จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานพระสอนศีลธรรม และสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ประวัติ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ
ในปีพ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีมติอนุมัติจัดตั้งวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อตอบสนองนโยบายที่ต้องการเติบโตเพื่อเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติสําหรับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และ คฤหัสถ์ ที่จะเดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนาจากทั่วทุกมุมโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อ เป็นการต้อนรับการเปิดโลกทัศน์ทางความรู้ในประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ ในปัจจุบันสำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มีด้วยกัน 1 หลักสูตร ซึ่งก็คือ หลักสูตรพุทธศาสนา (ภาคภาษาอังกฤษ) หรือ Bachelor of Arts in Buddhist Studies นั่นเองค่ะ
ทำความรู้จัก วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ หลักสูตรพุทธศาสนา (ภาคภาษาอังกฤษ)
หลักสูตรพุทธศาสนา (ภาคภาษาอังกฤษ) หรือ Bachelor of Arts in Buddhist Studies นั้นมิได้มุ่งเฉพาะประสิทธิประสาทวิชาผลิตบัณฑิตสู่ความเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณแห่งพระพุทธศาสนา ที่เน้นการคิดแบบมีเหตุผล ใช้ปัญญาเพื่อการแก้ไขปัญหาทั้งหลายเท่านั้น แต่ หลักสูตรพุทธศาสนา ภาคภาษาอังกฤษ นี้ยังให้ความสำคัญกับวิธีการสอนของพระพุทธเจ้า โดยเน้นให้บัณฑิตสามารถเป็น “ผู้สอน” เพื่อบัณฑิตสามารถเป็นครู ในการเผยแพร่หลักความรู้ทั้งหลายแก่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ต่อไป ดังนั้น การศึกษาหลักสูตรนี้ ผู้เรียนจึงไม่ได้เรียนรู้เฉพาะแต่เนื้อหาที่เข้มข้น แต่ ยังได้รู้จักวิธีคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล เพื่อจะได้ใช้ไตร่ตรองและทำความเข้าใจสถานการณ์ของโลกและสังคมที่เกิดขึ้น รวมไปถึงยังได้เรียนรู้ทักษะการสอน และการสื่อสารเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำงานในอนาคตต่อไปด้วยเช่นกัน
จุดเด่นของ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ หลักสูตรพุทธศาสนา ภาคภาษาอังกฤษ
- หลักสูตรพุทธศาสนา ภาคภาษาอังกฤษ เป็นหลักสูตรที่มีความหลากหลายแห่งความงดงามของวัฒนธรรม กล่าวคือ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ได้บ่มเพาะบัณฑิตจากนานาประเทศ หลากหลายวัฒนธรรมเกิดเป็นเครือข่ายด้านการเรียนการสอนทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่และครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยทั้งหมดล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อสร้างเสริมความตื่นรู้แก่สังคม และบูรณาการการศึกษาทางพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่เพื่อพัฒนาการวิจัย สร้างนวัตกรรม และบริการวิชาการทางพระพุทธศาสนาตามโครงการส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของประชาคมนานาชาติ
- หลักสูตรพุทธศาสนา ภาคภาษาอังกฤษ โดดเด่นเรื่องคอนเนกชั่น ไม่จำกัดเฉพาะเพื่อนฝูงและครูบาอาจารย์ชาวไทย แต่ด้วยตัวหลักสูตรที่มีความพหุวัฒนธรรม เพื่อนร่วมชั้นเป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก ดังนั้นผู้เรียนย่อมได้เพื่อนฝูง และคอนเนกชั่นจากทั่วโลกเลยทีเดียว
- หลักสูตรพุทธศาสนา ภาคภาษาอังกฤษ ส่งเสริมการสอนพระพุทธศาสนาด้วยเทคโนโลยีทันสมัย นอกจากจะเป็นหลักสูตรที่เน้นการสอนเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้นักศึกษาได้มีความเข้าใจในหลักธรรมของพุทธนิกายต่าง ๆ อย่างเข้มข้นแล้วนั้น หลักสูตรนี้ยังเน้นการสอนนักศึกษาเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในวิชาการสอน เพื่อสามารถนำวิชาความรู้ไปเผยแพร่ต่อได้ โดยยังเน้นให้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ควบคู่กันไป
- หลักสูตรพุทธศาสนา ภาคภาษาอังกฤษ ส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย นอกจากกำหนดให้ต้องร่ำเรียนในห้องเรียนแล้วนั้น นักศึกษาของหลักสูตรพุทธศึกษาภาคภาษาอังกฤษนี้ ยังสามารถเสริมสร้างประสบการณ์ผ่านการเรียนในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ การทำงานวิจัย ค้นคว้า โดยมีคณาจารย์และผู้ช่วย ดูแลเรื่องการจัดหลักสูตรอยู่อย่างใกล้ชิดตลอดการเรียน
- หลักสูตรพุทธศาสนา ภาคภาษาอังกฤษ ยังส่งเสริมการเรียนภาษาที่ 3 กล่าวคือน้อง ๆ ที่เลือกเรียนหลักสูตรพุทธศึกษา ภาคภาษาอังกฤษนี้ จะได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษกันอย่างเข้มข้นทั้งในห้องเรียน จากเนื้อหาวิชาที่สอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด รวมถึงนอกห้องเรียนผ่านการสนทนาเรียนรู้กับเพื่อนร่วมชั้น และครูผู้สอนที่เป็นชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วยแล้วนั้น ตัวหลักสูตรยังส่งเสริมให้มีการเรียนภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ ภาษาบาลี สันสกฤต เป็นต้น
- นักศึกษา หลักสูตรพุทธศาสนา ภาคภาษาอังกฤษ สามารถเลือกวิชาตามความถนัดและความสนใจ นอกจากกำหนดให้เรียนวิชาบังคับแล้วนั้น นักศึกษายังสามารถลงเรียนวิชาเลือกได้มากถึง 12 หน่วยกิต ตัวอย่างวิชาที่น่าสนใจ ได้แก่ วิชา Public Mind and Social Development วิชา Cross-Cultural Languages and Communications วิชา Mindfulness and Meditation วิชา Buddhism in South Asia วิชา Buddhist Innovation in Digital Era วิชา History of Buddhism และวิชา Environmental Studies and Deep Ecology เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ หลักสูตรพุทธศาสนา ภาคภาษาอังกฤษ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- เป็นผู้จบการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า โดยมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.0
- สมัครผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสมัครโดยตรงที่สำนักงานของ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ
- ส่งทรานสคริปต์ตัวจริง
- ส่งจดหมายแถลงถึงเป้าหมายในการประกอบอาชีพ ซึ่งอธิบายถึงความสนใจในหลักสูตรวิชา รวมถึงความคาดหวังเกี่ยวกับหลักสูตรที่จะช่วยให้เป้าหมายในการประกอบอาชีพบรรลุผล
- ส่งจดหมายแนะนำ (recommendation letter)
- ส่งตัวอย่างงานเขียน
- เรซูเม่ หรือ cv
- มีผลสอบภาษาอังกฤษตามที่กำหนด ซึ่งได้แก่
คุณสมบัติด้านภาษาอังกฤษสำหรับผู้เข้าศึกษา การสอบที่ใช้ คะแนน IELTS คะแนนรวม 5.0 (โดยแต่ละทักษะต้องไม่น้อยกว่า 5.0) TOEFL (ibt) คะแนนรวม 82 (writing ไม่ต่ำกว่า 22, reading ไม่ต่ำกว่า 18, speaking ไม่ต่ำกว่า 20 และ listening ไม่ต่ำกว่า 20)