เมนู
O-NET คืออะไร
O-NET คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน โดยทำการทดสอบเพื่อวัดความรู้ ความสามารถ รวมไปถึงความคิดของนักเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ซึ่งจะทำการทดสอบนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ดำเนินการจัดสอบโดย สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ
O-NET ย่อมาจากอะไร
Ordinary National Educational Test
O-NET สำคัญอย่างไร
นอกจากการสอบ O-NET จะเป็นกระบวนการหนึ่งที่สามารถวัดศักยภาพของนักเรียนทั้งในระดับโรงเรียนและในระดับชาติได้แล้ว คะแนนจากการทดสอบ O-NET ยังมีความสำคัญต่อการนำไปพัฒนาหรือปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนให้ดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย และแน่นอนว่ายังมีความสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยตรง
นั่นคือ คะแนน O-NET นั้น เป็นคะแนนหนึ่งที่มีผลกับการสมัครเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เราลองมาดูตัวอย่างกันเล็กน้อยดีกว่าว่า คะแนน O-NET ที่ว่าสำคัญกับการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั้น เป็นอย่างไรบ้าง
O-NET สอบวิชาอะไรบ้าง
จากรูป จะเป็นตัวอย่างการกำหนดเกณฑ์การรับสมัครของหลักสูตรต่างๆในระดับปริญญาตรี ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า คะแนนสอบ O-NET จะเป็นคะแนนตัวหนึ่งที่ถูกนำมาพิจารณาและคำนวณค่าน้ำหนักต่างๆ เพื่อใช้คัดเลือกนักเรียนเข้าไปเรียนในหลักสูตรนั้น ๆนั่นเอง
O-NET สอบวิชาอะไรบ้าง
O-NET ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
มีสอบทั้งหมด 4 รายวิชา คือ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
O-NET ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
มีสอบทั้งหมด 4 รายวิชา คือ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
O-NET ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
มีสอบทั้งหมด 5 รายวิชา คือ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์
ใครบ้างที่ต้องสอบ O-NET
การสมัครสอบ O-NET นั้น นอกจากนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ที่เรียนในโรงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จะต้องสอบแล้ว นักเรียนในระดับเทียบเท่าม.6 ที่ไม่ได้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ที่เรียนการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย นาฏศิลป์ อาชีวศึกษา การจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home school ก็สามารถสมัครสอบ O-NET ได้เช่นเดียวกัน
สมัครสอบ O-NET
การสมัครสอบจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ หากน้อง ๆคนไหนที่เรียนในโรงเรียนตามระบบปกติอยู่แล้ว ทางโรงเรียนจะส่งรายชื่อของนักเรียนที่อยู่ในระดับชั้นที่กำหนดว่าต้องสอบ ส่งไปยังสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ หลังจากนั้นทาง สทศ จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบและสนามสอบ ตามมาด้วยการประกาศเลขที่นั่งสอบต่อไป
ส่วนหากน้อง ๆคนไหนที่ไม่ได้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ผู้ที่เรียนการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย นาฏศิลป์ อาชีวศึกษา การจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home school นั้น จะจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นการสมัครสอบกรณีพิเศษ ซึ่งสามารถลงทะเบียนสมัครสอบผ่านเว็บไซต์ของ สทศ ได้เลยที่ https://www.niets.or.th/ หลังจากทำการสมัครสอบแล้ว ทาง สทศ จะมีการแจ้งประกาศเลขที่นั่งสอบและสนามสอบ สำหรับผู้เข้าสอบกรณีพิเศษตามมา โดยไม่ว่าน้อง ๆ จะเป็นนักเรียนที่สมัครสอบในแบบใดก็ตาม จะต้องทำการเข้าไปพิมพ์บัตรประจำตัวผู้เข้าห้องสอบรายบุคคลในเว็บไซต์ของ สทศ ด้วย