“มหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จะมีซักกี่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่กล้าการันตีและพร้อมสร้างวิสัยทัศน์ในการก้าวไปเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ถึงจะไม่บอกหลายคนก็คงพอเดาออกว่าต้องเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แน่ๆ เลย เพราะจุฬาฯนั้นยืนหนึ่งและถือเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาอันดับ 1 ของไทย ที่มีการเรียนการสอนก้าวไกลไปในระดับนานาชาติ และที่สำคัญทางมหาวิทยาลัยได้รับอันดับ Ranking ระดับต้นๆ จากองค์กรระดับนานาชาติ อาทิเช่น QS Top Universities จัดอันดับให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 96 ของโลกในด้านวิชาการ นับเป็นอันดับของมหาวิทยาลัยไทยที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่วนองค์กรต่างประเทศอื่น ๆ ที่จัดให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 1 ของประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง CWTS Leiden University, Center for World University Rankings, Nature Index, RUR Rankings Agency และ Webometrics นอกจากนี้ SCImago Institutions Ranking ส่วน The Times Higher Education, University Ranking by Academic Performance และ U.S. News & World Report จัดอันดับให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอันดับที่ 2 ประเทศ นอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนจะอัดแน่นด้วยคุณภาพแล้ว ที่จุฬาฯ ยังเด่นด้านศูนย์วิจัยอีกด้วย โดยทางจุฬาฯ สนับสนุนให้ทั้งอาจารย์และนักเรียนทำงานวิจัย เพราะเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นการต่อยอดความรู้และการศึกษาในเชิงลึก ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกรมอุดมศึกษาจัดให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเลิศทั้งด้านการเรียนการสอนและการวิจัย และคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอีกด้วย ดังนั้นใครที่เล็งการเรียนปริญญาเอกที่จุฬาฯ นั้นถือว่ามาถูกที่แล้ว เพราะทรัพยากรด้านงานวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนเรียน ป.เอก จุฬาฯ มีพร้อมอย่างครบครัน
ประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยซึ่งถือกำเนิดจาก “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2442 โดยมี “พระเกี้ยว” เป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน พระองค์ท่านได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ “ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และไม่จำกัดการเรียนรู้ไว้เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อ ปี พ.ศ. 2459 โดยในช่วงแรกมีการจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้มีการขยายและพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจาก 4 คณะในครั้งแรก สถาบันได้ขยายคณะและสาขาต่างๆ เพิ่มเติม จนในปัจจุบันมีถึง19 คณะวิชา 1 สำนักวิชา ครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และมีหน่วยงานประเภท วิทยาลัย 3 แห่ง บัณฑิตวิทยาลัย 1 แห่ง สถาบัน 14 แห่ง และสถาบันสมทบอีก 2 สถาบัน จำนวนหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 506 หลักสูตร ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี 113 หลักสูตร ระดับบัณฑิตศึกษา 393 หลักสูตร ในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรภาษาอังกฤษ 87 หลักสูตร
ทำไมถึงต้องเรียน ป.เอก จุฬาฯ
การเรียนต่อ ปริญญาเอก จุฬาฯ นั้นถือเป็นการพัฒนาศักยภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยทีเดียว เพราะที่สถาบันนั้นพร้อมสรรพไปด้วย ทรัพยากร ทุนการศึกษา เพื่อที่จะใช้สานต่อความรู้และงานวิจัยในสาขาที่ตอบโจทย์กับตัวผู้เรียนเอง โดยหลักสูตรจะเป็นการศึกษา วิจัยและวิเคราะห์ในเชิงลึก ซึ่งถือว่าใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ 3 – 4 ปีเลยทีเดียว ดังนั้นสถาบันที่พร้อมทั้งทางด้านหลักสูตรที่มีคุณภาพอย่างจุฬาฯ นั้น แน่นอนว่ามีคณะอาจารย์ที่มีประสบการณ์สูง รวมถึงมีพันธมิตรทางการศึกษามากมาย ที่ช่วยทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้และต่อยอดแนวความคิดได้ง่ายขึ้น จุฬาฯ นั้นถือเป็นสถาบันอันดับต้นๆ ของประเทศไทย สำหรับคนที่วางแผนจะต่อปริญญาเอกในไทย ที่นี่ถือว่าครบครันที่สุด ปัจจุบันหลักสูตรปริญญาเอกหรือดุษฎีบัณฑิตที่จุฬาฯ มีอยู่หลายหลักสูตรให้เลือก ทั้งด้านบริหาร วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต และแตกย่อยออกไปอีกแล้วสาขา ดังนั้นเราลองมาดูกันเลยว่า คณะไหนจะตรงกับใจของผู้เรียนบ้าง
ปริญญาเอก จุฬาฯ คณะบริหารธุรกิจ – Doctor of Business Administration (DBA Program – CBS )
ต้องบอกว่าเป็นหลักสูตรที่แปลกแหวกแนวและน่าสนใจมากๆ สำหรับคนที่จบ MBA หรือคลุกคลีในวงการธุรกิจ เพราะเป็นการเรียนที่เน้นการนำผลลัพธ์จากการวิเคราะห์และวิจัย นำไปใช้ต่อยอดในการปฏิบัติอย่างแท้จริง และปริญญาที่ได้จะเป็น DBA ไม่ใช่ Ph.D. แต่ก็ถือว่าเทียบเท่ากัน เพราะ Ph.D. จะเน้นการเรียนเชิงทฤษฎีหรือเป็น framework ที่เรียกว่า theoretical orientation ในทางกลับกัน DBA จะเป็นการเรียนรู้แบบ practical orientation คือ เรียนแล้วเน้นลงมือทำจริงๆ มากกว่า ดังนั้นประโยชน์ที่ได้รับก็อาจจะต่างกัน ในสายบริหารนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 หลักสูตรดังนี้
ป.เอก จุฬาฯ หลักสูตร Finance เน้นการเรียนรู้ในเชิงลึก เพื่อทำความเข้าใจและสำรวจ theoretical background รวมถึงการทำวิจัยเพื่อทำความเข้าใจอย่างถึงแก่นของระบบการเงินอย่างแท้จริง
ป.เอก จุฬาฯ หลักสูตร Marketing เป็นการเรียนรู้ Dynamic Marketing ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับยุค Digital Disruption การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เน้นการเรียนเชิงวิจัยและทำความเข้าใจกับทฤษฎีทางการตลาด โดยเชื่อมโยงเรื่องของ Marketing theory ให้เข้ากับยุคและเหตุการณ์
ป.เอก จุฬาฯ หลักสูตร Management เน้นการเรียนรู้เชิงบริหารจัดการองค์กรตามเทรนด์และเทคโนโลยีในยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไป โดยรวมถึงการทำวิจัยและวิเคราะห์ในเชิงลึกในเรื่องของ พฤติกรรมองค์กร การจัดการทรัพยากรบุคคล รวมถึงการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ
คุณสมบัติผู้สมัคร ปริญญาเอก จุฬาฯ :
- จบปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวข้อง และต้องมีจดหมายแนะนำตัวอย่างน้อย 2 ฉบับมาแนบพร้อมใบสมัคร
- คะแนนสอบ CU-TEP หรือ TOEFL หรือ IELTS ใช้ได้ถ้าอายุไม่เกินสองปี)
- TOEFL Paper 550 / TOEFL internet based 79 / CU-TEP (เทียบเท่า TOEFL 550) / IELTS 6.0
- คะแนนสอบ GMAT หรือ GRE (ใช้ได้ถ้าอายุไม่เกิน 5 ปี) โดยมีขั้นต่ำของ GMAT 550 หรือ GRE 1100
ปริญญาเอก จุฬาฯ วิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (PhD in Computer Science Program/English Program)
สำหรับหลักสูตรนี้ถือเป็นหลักสูตรที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะโลกเราทุกวันนี้ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว ในส่วนของปริญญาเอกสาขานี้ จะเน้นให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจผ่านการนำเสนองานวิจัยที่ล้ำสมัยในทั้งสองส่วนเลยคือ ทั้งด้าน Computer Science และด้าน IT โดยการเรียนรู้จะเริ่มต้นจากการทำการวิจัย ซึ่งทั้งหมดดำเนินการโดยศูนย์วิจัย Advanced Virtual and Intelligent Computing (AVIC) ที่ประกอบด้วยกลุ่มวิจัย 5 กลุ่ม ได้แก่
- การประมวลผลแบบคู่ขนานการคำนวณระบบประสาทและระบบอัจฉริยะของเครื่องจักร
- การประมวลผลภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกและการแสดงภาพ
- วิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้
- เครือข่ายคอมพิวเตอร์
- ชีวสารสนเทศศาสตร์การสร้างแบบจำลองพืชและการจำลองสถานการณ์
โดยนักศึกษาจะต้องทำการค้นคว้าและวิจัยร่วมกับองค์กรพันธมิตรของมหาวิทยาลัยดังนี้
- Computer Science: Cooperative Research Network (CRN)—National Higher Education Commission.
- Software Engineering, พันธมิตรในเครือ Computer Engineering group: Cooperative Research Network (CRN)—National Higher Education Commission
- National Science and Technology Development Agency (NSTDA) และองค์กรในเครือ — National Electronic and Computer Technology Center (NECTEC)
- Foreign research residency of Ph.D. candidates in USA (University of Louisiana at Lafayette), Canada (University of Alberta), and Australia (Queensland University of Technology and Monash University).
คุณสมบัติผู้สมัคร ปริญญาเอก จุฬาฯ
- ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 ในวิทยาศาสตรบัณฑิตหรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหรือเข้าเรียนในภาคการศึกษาสุดท้ายในฐานะผู้อาวุโสที่มีเกรดเฉลี่ย 3.25 หรือมีวิทยานิพนธ์ที่เป็นที่ยอมรับ
- ต้องมีคะแนน TOEFL 526 หรือคะแนน IELTS 5.5 หรือสูงกว่า สำหรับผู้ที่ไม่มีคะแนน TOEFL , IELTS , CU-TEP
- มีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่บัณฑิตวิทยาลัยประกาศใช้ทุกปีหรือได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการคณะวิทยาศาสตร์
ปริญญาเอก จุฬาฯ การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Doctoral Program in Logistics and Supply Chain Management Interdisciplinary)
ต้องบอกเลยว่าหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการด้านโลจิสติกส์ (หลักสูตรนานาชาติ/สหสาขาวิชา) ของจุฬาฯ เปิดสอนเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งหลักสูตรก็ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เรื่อยมา เพราะแก่นของหลักสูตรคือ การบริหารธุรกิจการค้าและการขนส่ง ซึ่งต้องสามารถนำไปช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเชิงธุรกิจได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันการซื้อขายระหว่างประเทศหรือ International Trade นั้นทำให้ระบบขนส่งและโลจิสติกส์เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ยิ่งมีระบบการค้าขายผ่าน E-commerce เข้ามา การแข่งขันก็สูงขึ้นมากเลยทีเดียว ดังนั้นหลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นในการพัฒนาความรู้เพื่อรองรับการแข่งขันทางธุรกิจในระดับนานาชาติ และเน้นการผลิตงานวิจัยขั้นสูงหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางการจัดการด้านโลจิสติกส์ของประเทศอย่างบูรณาการ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยเองมีหลักสูตรระดับปริญญาเอกด้านการจัดการด้านโลจิสติกส์อยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น และไม่ได้เป็นหลักสูตรเชิงบูรณาการ ทำให้ขาดแคลนบุคลากรในสาขานี้พอสมควรเลยทีเดียว
คุณสมบัติผู้สมัคร ป.เอก จุฬาฯ
- สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาใดก็ได้
- มีประสบการณ์ในการทำงานขั้นต่ำ 3 ปี
- คะแนนสอบ GMAT, GRE หรือ CU-BEST ตามมหาวิทยาลัยกำหนด
- มีคะแนน TOEFL 550 หรือคะแนน IELTS 6 หรือสูงกว่า หรือใช้คะแนน CU-TEP ขั้นต่ำ 80 คะแนน
ปริญญาเอก จุฬาฯ ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (Doctor of Philosophy Program in Educational Technology and Communications)
ทางฝั่งครุศาสตร์เองก็มีหลักสูตรปริญญาเอกเยอะถึง 8 หลักสูตรเลยทีเดียว แต่วันนี้จะนำเสนอในส่วนของสาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ซึ่งกำลังกลายเป็นพลังสำคัญในการสร้างรากฐานความรู้ที่มีคุณภาพให้กับเยาวชนไทย เป้าหมายของหลักสูตรนั้นแน่นอนว่าต้องการสร้างบุคคลากรที่มีความรู้ในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นในการนำเอาสื่อ สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียน และประหยัดเวลาในการเรียน
คุณสมบัติผู้สมัคร ป.เอก จุฬาฯ
- สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาใดก็ได้ โดยเป็นผู้บริหารและมีประสบการณ์ในการทำงานในระดับอุดมศึกษาหรือที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 1 ปี ส่วนบุคคลธรรมดานั้นต้องสำเร็จปริญญาโท และมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.25 โดยต้องมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับด้านการศึกษาหรือเกี่ยวข้องอย่างน้อย 1 ปี
- มีคะแนน TOEFL มากกว่า 67 หรือใช้คะแนน CU-TEP ขั้นต่ำ 45
- ใบแจ้งผลการทดสอบพื้นฐานการวิจัย (GREAT-R) คะแนนไม่ต่ำกว่า 50