“มุ่งธำรง…ปณิธานในการสร้างบัณฑิตที่เก่งและดี”
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือที่นิยมเรียกกันว่า “บางมด” (KMUTT) นั้น มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ต้องบอกว่าแนวคิดของบางมด นั้นถือว่าไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะนอกจากหลักสูตรและการวิจัยที่อยู่ในระดับสากลแล้ว สำหรับคนที่สนใจด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มักจะเลือกมาเรียนที่บางมดเป็นอันดับต้นๆ ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนและองค์ความรู้ที่เปี่ยมล้นด้วยคุณภาพ นอกจากนี้สถาบันยังสนับสนุนให้นักศึกษา คณาจารย์ และนักวิจัย แสวงหาความรู้และประสบการณ์ อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพออกมาสู่สังคมและประเทศชาติได้จำนวนมากอีกด้วย
ประวัติของ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)
ในอดีตคือ ” วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ” ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 ในสังกัด กองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ได้รับความช่วยเหลือจาก ยูเนสโก (UNESCO) และ กองทุนพิเศษ สหประชาชาติ ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ รวมทั้งสื่อการสอน และการอบรมบุคคลากร ให้มาช่วยดำเนินการสอนและเริ่มใช้วิธีสอบคัดเลือกรวมเพื่อรับนักศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ (การสอบเอนทรานซ์) ในปี พ.ศ. 2529 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการสถาปนาขึ้น ปรับหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตร 5 ปี มาเป็นหลักสูตร 4 ปี ในปี พ.ศ.2533
ทำไมถึงต้องเรียน ป.เอก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)
อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนแรกว่าที่บางมดนั้น อัดแน่นไปด้วยคุณภาพความรู้ในส่วนของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่สำคัญทางสถาบันได้รับเลือกจากรัฐบาลให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (National Research University) และยังได้รับการการันตีคุณภาพการเรียนการสอนผ่านทางสถาบันจัดอันดับนานาชาติ โดยบางมดนั้นติดอันดับโลกอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี โดยเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 3 ปีซ้อน ในปี พ.ศ. 2561 ถึง พ.ศ. 2563 โดยสถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก Times Higher Education และถูกจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยทางเทคโนโลยีอันดับที่ 1 ของประเทศไทย 2 ปีซ้อน ในปี พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 โดยการจัดอันดับของ U.S. News & World Report ในปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนได้เปิดสอนใน 8 คณะ, 1 สถาบัน, 1 วิทยาลัย, 1 บัณฑิตวิทยาลัย และ 1 บัณฑิตวิทยาลัยร่วม โดยเปิดสอนทั้งหลักสูตรปกติ สองภาษาและนานาชาติ ครอบคลุมในระดับปริญญาตรี, โท และเอก มีวิทยาเขตจำนวน 3 พื้นที่การศึกษา และ 1 อาคาร คือ มจธ. บางมด, มจธ.บางขุนเทียน, มจธ.ราชบุรี และอาคารเคเอกซ์ (KX – Knowledge Exchange for Innovation)
หลักสูตรปริญญาเอก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)
ป.เอก บางมด วิศวกรรมศาสตร์ : หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี, สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล, สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา, สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและระบบการผลิต, สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม, สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ), สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าและสารสนเทศ, สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร, สาขาวิชาวิศวกรรมชีวภาพ, สาขาวิชาเทคโนโลยีการขึ้นรูปวัสดุและนวัตกรรมการผลิต
ป.เอก บางมด คณะวิทยาศาสตร์ : หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์, สาขาวิชาฟิสิกส์, สาขาวิชาเคมี, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (หลักสูตรนานาชาติ), สาขาวิชาวิทยาศาสตร์นาโนและเทคโนโลยีนาโน (หลักสูตรนานาชาติ)
ป.เอก บางมด คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี : หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการเรียนรู้และเทคโนโลยี
ป.เอก บางมด คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ : หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์(หลักสูตรภาษาอังกฤษ), สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ)
ป.เอก พระจอมเกล้าธนบุรี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี: หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวเคมี(หลักสูตรนานาชาติ), สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ (หลักสูตรนานาชาติ), สาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (หลักสูตรนานาชาติ), สาขาวิชาชีวสารสนเทศและชีววิทยาระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)
ป.เอก พระจอมเกล้าธนบุรี คณะศิลปศาสตร์ : หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ (หลักสูตรนานาชาติ)
ป.เอก พระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม : หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
ป.เอก พระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาลัยสหวิทยาการ : หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หลักสูตร ปริญญาเอก พระจอมเกล้าธนบุรี ที่น่าสนใจ
ปริญญาเอก พระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและระบบการผลิต
Doctor of Philosophy Program in Industrial and Manufacturing Systems Engineering
ต้องบอกว่าวิศวะ อุตสาหการยังเป็นสาขาเด่นในแง่การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเมืองไทยเรามีองค์กรและหน่วยงาน รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ที่ต้องการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในเชิงลึกเข้าไปบริหารและจัดการรูปแบบการผลิตที่มีคุณภาพ โดยหลักสูตรนี้จะเน้นการผลิตนักวิจัยที่มีความรู้และความสามารถด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ทางด้านการผลิตและการจัดการ ทั้งทางด้านโลหะวิทยา การหล่อโลหะ การเชื่อมโลหะและพลาสติก การตรวจสอบโดยไม่ทําลายการควบคุมคุณภาพและระบบการผลิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยทางสถาบันมีการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการจัดเตรียมห้องปฏิบัติการที่มีทั้งอุปกรณ์รวมถึงเครื่องมือที่ทันสมัย มีห้องปฏิบัติการที่เป็นหน่วยเทคโนโลยีเฉพาะทางของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) อาทิเช่น หน่วยเทคโนโลยีเฉพาะทางหล่อโลหะ ห้องปฏิบัติการตัดและขึ้นรูปโลหะ เป็นต้น
คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา ป.เอก บางมด สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและระบบการผลิต
- สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ด้วยระดับคะแนนเกียรตินิยมในสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรม ไฟฟ้าวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด วิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ หรือเทียบเท่า จากสถาบันอุดมศึกษาที่สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) รับรอง หรือ
- สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ด้วยระดับคะแนนเฉลี่ย (GPA)ไม่ตํ่ากว่า 3.5 ในสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ หรือเทียบเท่า
- สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตหรือเทียบเท่า และมีประสบการณ์การทํางานในอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยมีผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์เป็นที่ยอมรับ หรือมีผลงานวิจัยในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
ปริญญาเอก พระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
Doctor of Philosophy Program in Electrical and Computer Engineering (International Program)
ใครที่อยู่ในสาย IT ต้องบอกเลยว่าน่าจะคุ้นเคยกับสาขานี้เป็นอย่างดี โดยทางภาควิชาจะเน้นการเรียนการสอนในด้านสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์ในอุตสาหกรรม ส่วนในระดับปริญญาเอกนั้น วัตถุประสงค์ในหลักสูตรจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และวิศวกรรมระบบ ควบคุมและเครื่องมือวัด รวมถึงเน้นให้นักศึกษาสามารถทำการวิจัยและนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา ป.เอก บางมด สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
- เป็นผู้ได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต หรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หรือเทียบเท่า โดยมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ตํ่ากว่า 3.50 หรือ ถ้าคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ถึง ต้องมีผลงานวิจัยด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
- มีผลคะแนน TOEFL 500 คะแนน หรือเทียบเท่า หรือผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยเมื่อสอบคัดเลือกในเกณฑ์เทียบเท่าผลคะแนน TOEFL 500 คะแนน
ปริญญาเอก พระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชาเทคโนโลยีการขึ้นรูปวัสดุและนวัตกรรมการผลิต
Doctor of Philosophy Program in Materials Processing Technology and Manufacturing Innovation
สาขาวิชานี้จะเน้นการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะ พอลิเมอร์ เซรามิกส์ แก้ว และวัสดุผสม มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีการผลิตชิ้นงาน ใช้สำหรับการปาดผิว การตัด การอบชุบ การชุบเคลือบผิว และการใช้วัสดุวิศวกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์รวมถึงลดต้นทุนการผลิต โดยที่ผ่านมาทางภาคมีผลงานวิจัยทางด้านการขึ้นรูปโลหะที่เข้มแข็งและโดดเด่น ประกอบกับความเชี่ยวชาญทางด้านวัสดุที่หลากหลาย ส่วนในระดับปริญญาเอกนั้นจะเน้นองค์ความรู้ใหม่ๆ และนวัตกรรมการผลิต เพื่อให้สามารถทํางานทางด้านวิชาการการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและการแก้ไขปัญหาในโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา ป.เอก บางมด สาขาวิชาเทคโนโลยีการขึ้นรูปวัสดุและนวัตกรรมการผลิต
- สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์อุตสาหกรรมอุตสาหกรรมศาสตร์ หรือเทียบเท่า ที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ตํ่ากว่า 3.50 หรือมีประสบการณ์การทํางานในอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยมีผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์เป็นที่ยอมรับ หรือมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ทางด้านเทคโนโลยีการขึ้นรูปวัสดุหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง หรือ
- สําเร็จสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถาบันอุดมศึกษาที่สํานักงาน ก.พ. รับรองหลักสูตร ด้วยระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 3.25 หรือเทียบเท่า
ปริญญาเอก พระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชานวัตกรรมการเรียนรู้และเทคโนโลยี
Doctor of Philosophy Program in Learning Innovation and Technology
ถึงคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคณะวิศวะหรือวิทยาศาสตร์ แต่ทางบางมดเค้าก็มีในส่วนของการสร้างบุคลากรทางด้านการศึกษา อย่างเช่น คณะครุศาสตร์ที่น่าสนใจอีกด้วย โดยสาขานวัตกรรมการเรียนรู้ จะเป็นการผสมผสานในการผลิตอาจารย์และบุคลากรที่ให้ความรู้แก่สังคม ซึ่งเน้นทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีความสามารถในการสร้างกระบวนการคิดการจัดการ และการเผยแพร่ วิทยาการที่หลากหลายรูปแบบในลักษณะของสหวิทยาการ ดังนั้นหากใครอยากต่อยอดด้านการศึกษาต้องบอกเลยว่าสาขาวิชานี้น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา ป.เอก พระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชานวัตกรรมการเรียนรู้และเทคโนโลยี
- สําเร็จการศึกษาปริญญาโทหรือเทียบเท่า หรือ
- สําเร็จการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
- ผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย
- มีประสบการณ์การสอน การบริหาร หรือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา หรือองค์การที่
- เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ จะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ
ปริญญาเอก พระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (หลักสูตรนานาชาติ)
Doctor of Philosophy Program in Postharvest Technology (International Program)
ด้วยความที่เมืองไทยเป็นประเทศแห่งการเกษตร ทำให้ทางสถาบันมุ่งมั่นในการสร้างหลักสูตรที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อช่วยในด้านเกษตรกรรมของไทยให้มีความทันสมัยและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยในสาขานี้จะเน้นด้านการสร้างบุคคลากร ให้มีความคิดริเริ่ม มีความรู้และความสามารถระดับสูงเชิงสหสาขาวิชาในการวิเคราะห์ปัญหา วิจัยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เพื่อลด ความเสียหายและรักษาคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ในด้านเกษตรกรรมได้อีกด้วย
คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา ป.เอก พระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (หลักสูตรนานาชาติ)
- เป็นผู้ที่ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ สาขาอื่น ๆ ที่มีคุณวุฒิ หรือพื้นฐานพอที่จะประยุกต์ใช้ในการเรียนสาขานี้ได้ พร้อมกับมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ตํ่ากว่า 3.50 หรือ
- สําเร็จการศึกษาปริญญาโททางด้านวิทยาศาสตร์หรือเทียบเท่า มีเกรดเฉลี่ยไม่ตํ่ากว่า 3.0 และเป็นผู้ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และต้องมีประสบการณ์ทําวิจัยอย่างน้อย 3 ปี หรือ
- ผ่านการทดสอบพื้นฐานด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวโดยได้คะแนนไม่ตํ่ากว่าร้อยละ 50
ปริญญาเอก พระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
Doctor of Philosophy Program in Robotics and Automation
ถึงจะเป็นสาขาที่ดูใหม่และทันสมัยมาก แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยทางภาควิชามุ่งเน้นในการผลิตบุคลากรที่มีพื้นฐาน ความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีทักษะในการทํางานวิจัยเชิงลึก และทักษะในการปฏิบัติงานขั้นสูงในภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยสามารถต่อยอดองค์ความรู้ไปสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ
คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา ป.เอก พระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
- สําเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วศ.ม.) หรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้าหรือเทียบเท่า โดยมีเกรดเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.0 ขึ้นไป หรือ
- สําเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) หรือวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ฟิสิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศ สถิติหรือเทียบเท่า โดยมีเกรดเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.0 ขึ้นไป
เกณฑ์ผลการทดสอบภาษาอังกฤษของหลักสูตรปกติในระดับ ปริญญาเอก พระจอมเกล้าธนบุรี
- ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกจะต้องยื่นคะแนนภาษาอังกฤษ TETET (Test of English for Thai Engineer and Technicians) ระดับคะแนน 4.5 หรือเทียบเท่าสำหรับหลักสูตรภาษาไทย ส่วนหลักสูตรภาษาอังกฤษจะต้องได้คะแนน 5.0
- หากมีคะแนนอ้างอิงสามารถนำมายื่นได้โดยหลักเกณฑ์สามารถดูได้ตามด้านล่าง